กนง.คงดอกเบี้ย1.50% เสียงแตกชัด4:3 คาด ธค.พร้อมขึ้นครั้งแรกรอบ3ปีกว่า

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 7/2561 ว่า กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี

โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้อุปสงค์ต่างประเทศมีสัญญาณชะลอลงบ้าง เพราะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนบ้าง การท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัว ทางเศรษฐกิจเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และความสามารถในการชําระหนี้ของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สําหรับภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง ได้รับการดูแลในระดับหนึ่งด้วยการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกํากับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น สงครามการค้า เบร็กซิท ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้แนวโน้มยังมีความผันผวน จึงเห็นควรให้ติดตาม สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ส่วนกรรมการ 3 ท่านเห็นว่าความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดําเนินนโยบายการเงิน (โพลิซีสเปซ) สําหรับอนาคต โดยหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต มีผลกระทบต่อผู้กู้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นใครถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมไม่มากไปไม่น้อยไป

“กนง.มีความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่จะส่งผลกระทบมากขึ้น และเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดําเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจําเป็นลง ส่วนจะเป็นการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่นั้น การส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นกับการประชุมครั้งต่อครั้ง ซึ่ง กนง.จะประเมินโดยใช้ข้อมูลล่าสุด โดยวันที่ 19 ธันวาคม จะมีการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2561 เป็นครั้งสุดท้ายของปี และเป็นรอบที่มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ” นายทิตนันทิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตลอด 28 ครั้ง ของการประชุม หรือกว่า 43 เดือน ตั้งแต่ปี 2558 ท่ามกลางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐเพิ่มขึ้น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารคาดไว้ และคาดว่าการประชุมครั้งที่ 8/2561 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปี กนง.จะมีมติ 7:0 เสียงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ 0.25% เป็น 1.75% แต่อาจจะไม่ได้ปรับขึ้นต่อเนื่องเพราะต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าภูมิภาค

คาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปี 2562 อีก 0.25% เป็น 2.00% ด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรายย่อยและเอสเอ็มอี หรือดอกเบี้ย MRR ขณะที่ดอกเบี้ยรายใหญ่ หรือดอกเบี้ย MLR อาจจะทรงๆ ตัว ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะรอในระยะ 3-6 เดือนจะปรับขึ้นตามา เพราะสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง ไม่ต้องเร่งระดมเงินฝากมากนัก

 


ที่มา มติชนออนไลน์