ปี’62 แบงก์ก้มหน้าส่งเงิน 0.46% คลังรับลูก ธปท.สางล้างหนี้ FIDF 8.6 แสนล.

คลังยืนตาม ธปท.คงอัตราเรียกเงินนำส่ง 0.46% จากแบงก์พาณิชย์ ถือเป็นอัตราเหมาะสม เหตุหนี้ FIDF1-FIDF3 ยังสูงกว่า 8 แสนล้านบาท คาดใช้เวลาชำระหมดในอีก 13 ปี หวั่นเศรษฐกิจ-ตลาดเงินทั้งใน-ต่างประเทศ กระทบการโตของฐานเงินฝากนายแบงก์กรุงไทยรับสภาพเรียกนำส่งเท่าเดิม แนวโน้มไม่น่าเก็บเพิ่ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานข้อพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมของอัตราการเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน โดยเห็นสมควรให้คงอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งในอัตราที่ 0.46% ต่อปี สำหรับงวดปี 2561-2562 ต่อไป เพราะภาระหนี้ FIDF1 (พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน พ.ศ. 2541) และ FIDF3 (พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545) ยังเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในระดับสูง

รวมถึงสอดรับกับสมมุติฐานอัตราการขยายตัวของฐานเงินฝาก ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินทั้งในประเทศและตลาดการเงินโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลดภาระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ธปท.มีสมมุติฐานและประเมินศักยภาพในการชำระเงินจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ 1) เงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ที่เป็นแหล่งหลักในการชำระหนี้ โดยมีสมมุติฐานอัตราขยายตัวของฐานคำนวณเงินนำส่งจากสถาบันการเงินอยู่ในระดับที่เท่ากับสมมุติฐานเดิมที่ 4% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของฐานเงินฝากในช่วงที่ผ่านมา

และ 2) แหล่งอื่น ๆ ได้แก่ เงินจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปี คาดจะนำส่งได้ไม่เกินปีละ 10,000 ล้านบาท เงินหรือทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในปีงบประมาณ 2562 จะนำส่ง 7,000 ล้านบาท และปีต่อ ๆ ไปคาดว่าจะนำส่งได้ 6,000 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานที่กองทุนยังคงถือหุ้นธนาคารกรุงไทยอยู่ ส่วนเงินกำไรสุทธิของ ธปท.จะไม่มีนำส่ง เนื่องจากยังมีผลขาดทุนสะสมสูง

ในส่วนของการจ่ายดอกเบี้ยคาดว่าจะจ่ายในช่วงปีงบประมาณ 2562-2564 ได้ประมาณปีละ 32,000 ล้านบาท

“จากภาระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ที่ยังเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในระดับสูง ซึ่ง ณ วันที่ 31 ก.ค. 2561 มียอดหนี้คงค้าง 864,437.21 ล้านบาท ธปท.ประเมินว่าจะใช้เวลาชำระหนี้เสร็จสิ้นในปี 2574 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า ทางกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องในการคงอัตราเงินนำส่งไว้เท่าเดิม โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2555 จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2561 พบว่าได้มีการชำระคืนต้นเงินกู้ในส่วนของ FIDF1 และ FIDF3 ไปแล้วเป็นจำนวน 259,568.68 ล้านบาท ทำให้ยอดหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ลดลงเหลือ 864,437.21 ล้านบาท

“เงินนำส่งจากแบงก์ ธปท.ได้นำไปชำระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการเกี่ยวกับ FIDF1 และ FIDF3 จำนวนทั้งสิ้น 301,086.55 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระต้นเงินกู้จำนวน 59,600 ล้านบาท ดอกเบี้ยจำนวน 241,475.40 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 11.15 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 0.46% และอีก 0.01% นำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ซึ่งเชื่อว่า ธปท.ไม่น่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งดังกล่าว

“เงินที่นำส่งก็เพื่อดูแลระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเราก็มองว่าการนำส่งต้องเป็นไปตามระบบ และก็เข้าใจ ธปท.ที่เข้ามาดูแลระบบในช่วงที่เกิดวิกฤต ดังนั้น ตอนนี้เราก็ต้องช่วย ธปท.พอสมควร” นายผยงกล่าว