กนง.มีมติ 4:3 ให้คงดอกเบี้ย 1.5%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (12/11) ที่ 33.0709 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (9/11) ที่ 33.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทยังคงได้รับแรงหนุนจากหลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.00-2.25% และได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้แล้วเฟดยังได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2562 และอีก 1 ครั้งในปี 2563 ขณะทีี่ในวันอังคาร (13/11) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินยูโร ก่อนที่จะเริ่มทยอยปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงสายจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุน รวมไปถึงการแข็งค่าของค่าเงินในภูมิภาคเอเชียจากไม่แน่นอนในสถานการณ์สงครามการค้า หลังจากมีรายงานว่า ทั้งสหรัฐและจีนได้จัดการเจรจาระดับสูงอีกครั้ง ค่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงบ่ายวันพุธ (14/11) หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติด้วยเสียง 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้ โดยมองภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่มองว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป ซึ่งนโยบายดังกล่าวรวมถึงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำด้วย

ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงผันผวนตามค่าเงินปอนด์และยูโร หลังคณะรัฐมนตรีอังกฤษได้ลงมติอนุมัติร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก่อนที่จะมีข่าวรัฐมนตรีคนสำคัญของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษลาออกจากตำแหน่งในภายหลัง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐประกาศออกมาดีกว่าคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.3 ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.82-33.18% บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 32.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (12/11) ที่ระดับ 1.1325/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/11) ที่ 1.1339/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงหลังถูกกดดันจากความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปจะชะลอตัวสู่ 2.1% ในปีนี้ (2561) หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ในปีก่อนหน้า (2560) พร้อมเตือนว่า ตัวเลขขาดดุลงบประมาณของอิตาลีจะเพิ่มขึ้นสูงเกินระดับ 3% ในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป และในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังคงปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit โดยไม่มีการทำข้อตกลง รวมไปถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับงบประมาณของอิตาลี ทั้งนี้คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ปฏิเสธร่างงบประมาณอิตาลีในเดือนตุลาคม และจะดำเนินมาตการลงโทษอิตาลี ถ้าหากอิตาลีไม่ปรับแก้ไขร่างงบประมาณดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของอีซีบี

ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินยูโรและปอนด์แข็งค่าขึ้น หลังจากที่มีการประกาศว่าสหราชอาณารจักรและยุโรปบรรลุนร่างข้อตกลง Brexit ได้สำเร็จ โดยอังกฤษได้ทำร่างข้อตกลงเรื่องการถอนตัวกับสหภาพยุโรป (EU) แล้ว และนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้แถลงการณ์ซึ่งยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีอังกฤษได้ลงมติอนุมัติร่างข้อตกลง Brexit เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากร่างข้อตกลงดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบร่วมกันระหว่างตัวแทนการเจรจาของอังกฤษ และสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13/11) แต่ร่างข้อตกลงดังกล่าวยังจะต้องถูกส่งให้รัฐสภาอนุมัติเป็นขั้นตอนต่อไป ก่อนที่แรงหนุนจะลดน้อยลงหลังจากนายโดมินิก ราบ รัฐมนตรี Brexit และนางเอสเธอร์ แมคเวย์ รัฐมนตรีงานและเงินบำนาญของอังกฤษลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุน เนื่องจากการที่สมาชิกรัฐสภาอังกฤษทั้งจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านหลายคนคัดค้านข้อตกลงนี้ บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงที่ข้อตกลงนี้ อาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลให้อังกฤษถอนตัวออกจากอียูในวันที่ 29 มีนาคม โดยไม่มีแผนรองรับ ส่วนอีกประเด็นที่นักลงทุนติดตามในช่วงท้ายสัปดาห์ก็คือการที่สหภาพยุโรปปฏิเสธการยืนยันร่างงบประมาณปี 2019 ของอิตาลีในระดับขาดดุลที่ 2.4% ต่อจีดีพี 2019 โดยนายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต ของอิตาลีก็ได้มีการออกมาแสดงความต้องการที่จะทำงานร่วมกับอียูในเรื่องงบประมาณประจำปี 2019 ของรัฐบาลอิตาลี เพื่อให้ร่างงบประมาณดังกล่าวลุล่วง ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1213-1.1362 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 1.1329/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (12/11) ที่ระดับ 113.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/11) ที่ 113.85/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันอังคาร (13/11) หลังการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของญี่ปุ่นขยายตัว 2.9% ในเดือนตุลาคม ปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเพียง 2.8% โดยค่าเงินเยนยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 หดตัวลง 1.2% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวลงเพียง 1.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยรายงานระบุว่า การบริโภคภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวลง 0.1% เนื่องจากการใช้จ่ายในภาคโรงแรม การรับประทานอาหารนอกบ้าน และการคมนาคมทางอากาศลดลง นอกจากนี้ราคาพืชผักที่ปรับตัวสูงขึ้นยังทำให้ประชาชนต้องรัดเข็มขัดกันมากขึ้นอีกด้วย ส่วนยอดส่งออกปรับตัวลง 1.8% เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์และผลิตภัณฑ์กลุ่มเทคโนโลยีจากต่างชาติลดลง ส่วนยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขาเข้าก็ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญกับภัยธรรมชาติหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนการใช้จ่ายด้านทุนซึ่งเคยได้รับแรงหนุนจากผลกำไรของบริษัทและภาคการก่อสร้างที่คึกคักก่อนช่วงเปิดการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020 นั้น ปรับตัวลดลง 0.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.95-114.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 113.40/50
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ