PwC เตือน 2 หมื่นบริษัทใหญ่ รับกม.ภาษีสกัดถ่ายโอนกำไร

ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯเตือนผู้ประกอบการรับมือกฎหมายใหม่ “Transfer pricing” สกัดถ่ายโอนกำไรกิจการในเครือ บังคับใช้ปีหน้า ต้อน 20,000 บริษัทสำแดงเชื่อมข้อมูลธุรกรรม ปิดทางเลี่ยงภาษี แนะวางแผนภาษี-ทำบัญชีให้ถูกต้อง

เตือนปรับตัวรับ กม.ภาษีใหม่

นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwCประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส)เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่กรมสรรพากรจะมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ปรับปรุงใหม่ในหลาย ๆ ส่วน อาทิ มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) เรียกว่าเป็นกฎหมายป้องกันการถ่ายโอนกำไรของกลุ่มบริษัท, ภาษีที่เกี่ยวกับระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (ภาษีอีเพย์เมนต์) รวมถึงการนำระบบดิจิทัลและบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะเตรียมพร้อมวางแผนภาษี โดยทำระบบบัญชีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตั้งแต่ตอนนี้

สำหรับกฎหมาย Transfer Pricing จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 หลักการง่าย ๆ คือ การกำหนดราคาสินค้า หรือการเรียกเก็บค่าตอบแทนระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด อาจเก็บสูงไปหรือต่ำไป ทำให้บริษัทมีกำไรที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะมีผลกับการเสียภาษี

สกัด 2 หมื่นบริษัทถ่ายโอนกำไร

โดยกฎหมายกำหนดว่า บริษัทที่มียอดขายเกิน 200 ล้านบาทต้องทำเอกสาร Transfer Pricing ที่เรียกว่า local file คือเอกสารการทำธุรกรรมกับบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ เช่น ธุรกรรมการซื้อขาย/การกู้ยืมเงินระหว่างบริษัทในเครือ เป็นต้น ส่วนบริษัทข้ามชาติที่มียอดขายตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากนี้ ต้องยื่น local file ต้องยื่น master file เป็นข้อมูลภาพรวมธุรกิจทั้งกลุ่มทั่วโลก ซึ่งบริษัทที่เข้าข่ายตามกฎหมายกำหนดต้องยื่นเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ต่อกรมสรรพากรในปี 2563

“master file จะบอกโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มทั้งหมด เช่น บริษัทในเครือกี่แห่ง แต่ละบริษัททำธุรกิจอะไร ซัพพลายเชนเป็นใคร มีทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างอะไรบ้าง เช่น สิทธิบัตรต่าง ๆ เครื่องหมายการค้า มีการกู้ยืมเงินระหว่างกันยังไงบ้าง คิดดอกเบี้ยยังไง มีสัญญาอะไรต้องเปิดเผยในเอกสารนี้ทั้งหมด” นายนิพันธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่จะมีการทำเอกสาร master file อยู่แล้ว เพราะกฎหมายในหลายประเทศต้องมีการยื่น master file แต่ที่จะเป็นปัญหาและตกใจมากกว่า คือ บริษัทไทยเพราะไม่เคยทำ

นายนิพันธ์กล่าวว่า จากที่มีการสำรวจข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าปัจจุบันในเมืองไทยมีบริษัทที่มียอดขาย 200 ล้านบาทขึ้นไป มีอยู่ประมาณ 20,000 บริษัท และยอดขายมากกว่า 2,000 ล้านบาทขึ้นไปราว 2,500 บริษัท

กม.ภาษีมุ่งสู่สากล

นายนิพันธ์กล่าวว่า บนมาตรฐานโลกเรื่องกฎหมาย Transfer Pricing นอกจากเอกสาร local file และ master file แล้ว จะต้องมีการยื่นเอกสารชุดที่ 3 เรียกว่า Country by Country Report เป็นเอกสารสำแดงขอข้อมูลรายได้ของบริษัทในแต่ละประเทศ, ข้อมูลการเสียภาษีแต่ละประเทศ, ข้อมูลพนักงาน, ทรัพย์สินหักเงินสด เพราะบางบริษัทถ้าเอาเงินสดออกอาจไม่เหลือทรัพย์สินอะไรเลย ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะทำให้เห็นว่าบริษัทที่ตั้งอยู่บางประเทศมีรายได้สูงแต่เสียภาษีน้อย และไม่มีทรัพย์สินอะไร ก็อาจแสดงว่าเป็นการถ่ายโอนกำไรเพื่อเลี่ยงภาษี

โดยส่วนนี้กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (Country by Country) ซึ่งเพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม กฎหมายนี้ได้มีการบังคับใช้ไปแล้ว

มาตรการเหล่านี้ที่ภาครัฐทยอยทำออกมาจะทำให้กรมสรรพากรมีเครื่องมือตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถือว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะปรับปรุงตัวเองในการทำธุรกิจอย่างถูกต้อง และเสียภาษีอย่างตรงไปตรงมาเพื่อจะไม่กังวลว่าจะถูกตรวจสอบเมื่อใด โดยควรจะเริ่มปรับตั้งแต่ตอนนี้ เพราะถ้าทำช้าก็จะเหนื่อยมากขึ้น

“ตอนนี้ผู้ประกอบการทราบว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมา แต่หลายรายก็ยังไม่ทำอะไรรอดูกฎหมายลูก ซึ่งผมอยากบอกว่าเรากำลังเดินไปในทิศทางที่เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ต่อให้กฎหมายลูกยังไม่ออกมา ผู้ประกอบการก็ควรมองว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นและจะเตรียมตัวอย่างไร” นายนิพันธ์กล่าว

เครื่องมือใหม่สรรพากร 

นายนิพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่สำคัญคือในช่วงที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบภาษี โดยนำระบบ RBA (risk based audit system) คือระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และลดขั้นตอนการทำงานของสรรพากรในการตรวจสอบภาษีได้มาก โดยระบบทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดเลือกผู้เสียภาษีที่มีความเสี่ยงได้เร็วขึ้นมาก

“ในแง่ผู้เสียภาษี ที่จะวางแผนภาษีต้องคิดว่าเราหนีไม่พ้นและเหมือนกันทุกที่บนโลก ดังนั้น ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียภาษีรายเล็กหรือรายใหญ่ ผมบอกกับ

ผู้เสียภาษีทุกครั้งว่า วันนี้ทุกคนต้องกลับไปตรวจสุขภาพตัวเอง เพราะเป็นทางแก้ที่ดีที่สุด”

นายนิพันธ์กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่เคยจดแจ้งทำบัญชีเล่มเดียวกับกรมสรรพากรไว้ เป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเพราะไปขึ้นทะเบียนไว้แต่ในทางปฏิบัติก็ยังทำไม่ถูกต้องกันอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งหากยังไม่มีการปรับปรุงให้ถูกต้อง ในอนาคตก็จะถูกระบบ RBA ตรวจสอบเจอแน่นอน

นายนิพันธ์กล่าวอีกว่า ระบบตรวจสอบที่ทำได้เร็วขึ้น อาจทำให้เจ้าหน้าที่พบปัญหาเข้ามามากขึ้น ซึ่งในบางประเทศ อย่างเช่น สิงคโปร์ จะมีการตั้งสถาบัน (academy) ในการสอนเรื่องภาษีให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ และนำไปใช้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องซึ่งกรมสรรพากรของไทยก็ต้องส่งเสริมเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้เสียภาษี


“ภาษีกับความเข้าใจธุรกิจต้องไปด้วยกัน สิงคโปร์ถึงเป็นสวรรค์นักลงทุน ก็เพราะว่าถ้ามีผู้ลงทุนต้องการทำธุรกิจที่เป็นบิสซิเนสโมเดลใหม่ เพื่อทำให้ถูกต้องก็จะเข้าไปคุยกับสรรพากร ซึ่งสรรพากรจะตั้งทีมมาให้คำแนะนำว่าจะทำได้แบบไหนภายใต้ข้อกฎหมายที่มีอยู่ หลังจากนั้น ก็จะทำเป็นคู่มือเพื่อให้กับรายอื่น ๆ ที่ต้องการทำแบบเดียวกันนำไปใช้ได้” นายนิพันธ์กล่าว