ตปท.-เลือกตั้ง ชี้ขาดเศรษฐกิจปีกุน

ในงานสัมมนาประจำปีของหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นในหัวข้อ “THAILAND 2019” เมื่อคนเปลี่ยน แลนด์สเคปธุรกิจโลกเปลี่ยน ธุรกิจไทยจะก้าวไปอย่างไร ซึ่งในงานนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้ขึ้นเวทีกล่าวถึงความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ 2019 เป็นสิ่งที่ท้าทายมากในปีนี้ โดยตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้น่าจะจบลงด้วยการโต 4.3% เพราะหลัก ๆ มาจากการบริโภคในประเทศที่ค่อนข้างดี แต่จริง ๆ การบริโภคมาจากการซื้อรถยนต์เยอะ การบริโภคส่วนอื่นไม่ได้สูงขนาดนั้น การลงทุนเอกชนอยู่ที่ 3.5% แต่ปัจจัยที่ดูแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ด้านเงินเฟ้อก็ยังต่ำ เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูง

“ภาพเศรษฐกิจในปีหน้า เรามองว่าเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยและประเทศหลัก ๆ โตช้าลงจากปีนี้ ทางเราคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้า น่าจะโตต่ำกว่า 4% แน่นอน ซึ่งตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็มีความหวังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 15% ของจีดีพี ด้านการส่งออกสินค้าก็มีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง”

แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้เดิมพันอย่างมาก คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ที่รัฐบาลพร้อมจะอุดหนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่

ปี 2562 จะเป็นการเริ่มต้นโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการเห็นชอบและอนุมัติมีความชัดเจน ซึ่งเรามองว่าถ้าโครงการอนุมัติ จะมีเอกชนแห่มาลงทุนหรือเปล่า เนื่องจากปีนี้การลงทุนเอกชนโตแค่ 3.5% ถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะเห็นการลงทุนเอกชนโตกว่า 3.5%

“ศุภวุฒิ” กล่าวว่า สิ่งที่รัฐกำลังทำมีปัจจัยหลัก ๆ คือ การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ ซึ่งจะเป็นการนำเอาทรัพย์สินปัจจุบันที่ใช้น้อยนำทรัพย์สินมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งปีนี้สนามบินอู่ตะเภารับผู้โดยสาร 1 ล้านคน แต่มีศักยภาพที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20-30 ล้านคน เทียบเท่ากับดอนเมือง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีการใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งหากรัฐเชื่อม 3 สนามบินได้ จะใช้เวลาเดินทางเพียง 45 นาที ก็คาดหวังว่าจะมีการขยายตัวของนักท่องเที่ยวแถบพัทยาเพิ่มขึ้นไปอีก และหวังว่าจะรองรับนักจำนวนท่องเที่ยวให้เกินจากที่มี 30 ล้านคน เป็น 40 ล้านคน ซึ่งจะเป็นเครี่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ที่อู่ตะเภายังมีการสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องบินจะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องบินหรือขนส่งได้ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ รวมถึงการมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อย่างสมาร์ทซิตี้ที่ฉะเชิงเทราที่คาดหวังจะเห็นในครึ่งปีหลัง นี่คือภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

ด้านการเมืองของไทย เขามองว่าหลายคนพูดว่าถ้ามีการเลือกตั้ง หุ้นน่าจะขึ้น แต่เราก็ไม่เชื่อว่าจะขึ้น เพราะการเลือกตั้งเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตย โดยอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราไม่ได้มีการเลือกตั้งผ่านสภามา 5 ปี ไม่มีการเลือกตั้งมาเกือบ 8 ปี แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ทุกคนสนใจ

“ถ้าดูตรงนี้ มันหมายถึงความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่หลายคนยังไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งและสงสัยว่าจะนับคะแนนยากมาก เราคิดว่าครึ่งแรกของปีนี้ ไทยจะอยู่ในเรื่องของการเมือง ความไม่แน่นอน การนับคะแนนและการตั้งรัฐบาล ครึ่งปีแรกถ้ามองจากมุมนักลงทุน ต้อง wait and see (รอดู) ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลต่อไป มีนโยบายอย่างไร รัฐบาลใหม่จะมีศักยภาพมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน”

สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศ ดูจะเป็นเรื่องที่ “สำคัญกว่า” ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกของไทยอยู่ที่ 55% ของจีดีพี ซึ่งใหญ่กว่าการบริโภคของคนไทย เมื่อรวมกับการท่องเที่ยวอีก 15% ของจีดีพี เท่ากับว่า “กำลังซื้อจากภายนอก” มีสัดส่วนสูง 70% ของจีดีพี

ซึ่งคนจะสนใจมากเรื่องสงครามการค้าสหรัฐและจีน ที่มีการถกเถียงกันมาก จากที่ “ทรัมป์” มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนมีมูลค่าราว 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนน้อยมากแค่ 0.2% ของจีดีพีสหรัฐ ซึ่งดูไม่น่าจะมีผลกระทบมาก แต่ก็ยังต้องดูการพบปะครั้งสำคัญของ “ทรัมป์” และ”สี จิ้นผิง” ในวันที่ 30 พ.ย. 61 ว่าจะคุยกันรู้เรื่องไหม จะเป็นจุดพลิกผันสำหรับการมองเศรษฐกิจในอนาคต

ด้านยุโรปก็ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากในภูมิภาคยุโรปมีความอ่อนไหวสูง จากที่แกนนำหลักอย่างเยอรมนีจะต้องเลือกผู้นำคนใหม่ต่อจากนางอังเกลา แมร์เคิล รวมถึงประเด็น Brexit (อังกฤษจะออกจาก EU) ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น และอิตาลีที่ยืนกรานจะทบทวนร่างงบประมาณประจำปี 2562 ประเด็นเหล่านี้ทำให้ยุโรปไม่สามารถเป็นผู้นำพาเศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้

ส่วน “จีน” กำลังหาวิธีรับมือกับอเมริกา และรับมือกับเศรษฐกิจของประเทศตัวเองที่กำลังจะชะลอลง ด้วยการใช้นโยบายให้เงินหยวนค่อย ๆ อ่อนค่า เพื่อลดผลกระทบจากการทำสงครามการค้ากับอเมริกา ซึ่งเงินหยวนที่อ่อนค่า รวมถึงค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ “อ่อนค่า” จะหมายความว่า กำลังซื้อที่ “ลดลง” ของประเทศตลาดเกิดใหม่ในตลาดโลก โดยล่าสุดราคาน้ำมันปรับลดลง 7% ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลง ก็จะทำให้แรงซื้อน้ำมันของประเทศเหล่านี้อ่อนลงไป

“ประเด็นค่าเงินของประเทศเกิดใหม่ที่อ่อนลงนี้ จะส่งผลกระทบในปีหน้า ที่จะทำให้กำลังซื้อในตลาดโลกลดลง ส่วนญี่ปุ่นจะมีจุดยืนค่อนข้างลำบาก เนื่องจากการพยายามยืนข้างจีน แต่ต้องการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเช่นกัน เมื่อมองดูภาพของเศรษฐกิจโลกในเชิงดังกล่าว ถือว่ายังมีความไม่ชัดเจน นักลงทุนจึงมีแนวโน้มว่า wait and see ซึ่งจะทำให้การลงทุนของโลกแผ่วลง” ศุภวุฒิกล่าว

ประเด็นสุดท้าย คือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่คาดกันว่าวันที่ 19 ธ.ค. 61 เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง และจะขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า จากเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ร้อนแรงจริง ๆ ปีนี้คาดการณ์ว่าจะเติบโต 1.8% แต่ก็โตไปถึง 3% ถือว่าเศรษฐกิจ “โตเกินศักยภาพ” เฟดจึงมองว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งสถิติในอดีต ภาวะดอกเบี้ยปกติ จะอยู่ที่เงินเฟ้อบวก 1% ปัจจุบันเงินเฟ้อของสหรัฐ อยู่ที่ 2-2.3% ถ้าจะกลับสู่ภาวะปกติ ดอกเบี้ยเฟดควรจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3% ซึ่งก็จะดึงให้ดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ ขึ้นตาม

“ศุภวุฒิ” กลับมาดอกเบี้ยนโยบายของไทย ว่า จะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ทางภัทรยังไม่ตกผลึก เนื่องจากไทยยังมีปัจจัยบวกที่ทำให้อาจไม่ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด ได้แก่ เงินเฟ้อยังต่ำอยู่ที่ 1% แต่เงินเฟ้อของสหรัฐ 2% การที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากปีนี้ราว 7-8% ของจีดีพี และปีหน้าคาดจะอยู่ที่ 6-7% ของจีดีพี หากเป็นเช่นนั้นแล้ว จะมีเงินไหลเข้าจากการส่งออกมากกว่าการนำเข้าเดือนละ 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และหากจะมีเงินไหลออกบ้างจากช่องว่างของดอกเบี้ยนโยบาย ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องไปเร่งขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากไทยมีกันชนจากปัจจัยบวกค่อนข้างสูง


“ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ค่าเงิน จะต้องดูค่าเงินดอลลาร์เป็นยังไง ซึ่งมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น แต่ไทยมีศักยภาพ ก็ไม่ต้องเร่งขึ้นตาม จากปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสูง สิ่งที่เราคงเห็นในปีหน้า คือ ครึ่งปีแรกจะพะวงสนใจเรื่องการเมือง และมองหาคำตอบให้ตัวเอง ส่วนครึ่งปีหลังรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีนโยบายอะไรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ศุภวุฒิทิ้งท้าย