คปภ.แจกของขวัญปีใหม่​ ดีเดย์กติกาใหม่จ่ายค่าขาดประโยชน์จากใช้รถระหว่างซ่อม 500-1,000 บาท

คปภ.แจกของขวัญปีใหม่​ ดีเดย์กติกาใหม่จ่ายค่าขาดประโยชน์จากใช้รถระหว่างซ่อม 500-1,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างคำสั่งนายทะเบียนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในต้นปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้สามารถลดปัญหาข้อร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวได้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเรื่องร้องเรียนมากเป็นอันดับ 1 คปภ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นโดยมีนายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานคณะทำงานปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองและเงื่อนไขของประกันรถยนต์

โดยมีการหารือกันถึงการกำหนดความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์ที่ควรจะระบุไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันรถยนต์ให้ชัดเจน โดยมีผู้แทนของสมาคมประกันวินาศภัยไทยเข้าร่วมด้วย ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นให้กำหนดอัตราค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งกำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท กลุ่มที่ 2 รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท และกลุ่มที่ 3 รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่งกำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท

ซึ่งขณะนี้ คปภ.อยู่ระหว่างการยกร่างคำสั่งนายทะเบียนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในต้นปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้สามารถลดปัญหาข้อร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวได้ และเมื่อมีคำสั่งนายทะเบียนออกมาแล้วบริษัทจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกำหนดอัตราค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัดหากบริษัทฝ่าฝืนก็ย่อมมีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียนและยังเป็นกรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย

ซึ่งอาจถือได้ว่าบริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยอันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามประกาศ คปภ.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2559 ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำให้บริษัทประกันภัยทุกบริษัทดำเนินการตามประกาศฯดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับเช่นเดียวกับการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยมีระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ (ตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 88 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535) ซึ่งถือว่าเป็นอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบประกันภัยโดยได้กำหนดให้มีโครงการจัดทำ mobile Application เป็นระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยประชาชนใช้เป็นช่องทางในการให้บริการด้านประกันภัยทั้งระบบ เช่น การซื้อประกันภัย การต่อใบอนุญาตกรมธรรม์ประกันภัย รวมไปถึงการตรวจสอบระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย การตรวจสอบอู่ซ่อมรถในเครือบริษัทประกันภัย เลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นช่องทางในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และบริษัทในการจัดการสินไหมทดแทนเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันและมีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจซึ่งแต่เดิมมีโครงการ “ชนแล้วแยก แลกใบเคลม” ซึ่งบริษัทประกันภัยสามารถบริการประชาชน หรือบริหารจัดการได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี

โดยโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและบริษัทประกันวินาศภัยแล้วยังเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการบูรณาการแก้ไขปัญหาการจรในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งสำนักงานคปภ.จะจัดทำโครงการดังกล่าวในปี 2562 เพื่อเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการออกเป็นประกาศ คปภ.เพื่อให้ทุกบริษัทต้องใช้กลไกนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป