จับตา…ส่งออก-ท่องเที่ยว ชี้ชะตา “กนง.” ขึ้นดอกเบี้ย

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ที่ออกมานัดล่าสุด (14 พ.ย. 61) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ซึ่งคะแนนเสียงที่เพิ่ม 1 เสียง อยากให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เพราะเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องที่ชัดเจนเพียงพอ ขณะที่มีความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงินและย้ำต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ในอนาคต แม้เป็นเหตุผลเดิม แต่ก็มีเสียงแตกเพิ่มขึ้น

สำหรับเสียงกรรมการส่วนใหญ่มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายระดับปัจจุบันช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเงินเฟ้อ แต่ก็ย้ำว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอย “ลดความจำเป็นลง”

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย

ซึ่ง กนง.เห็นว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดี จากแรงส่งด้านการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวตามรายได้ที่ดีขึ้น ด้านการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมาไทย ส่วนภาคการส่งออกชะลอลงเป็นผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง “สหรัฐ-จีน” วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลง และด้านท่องเที่ยวที่ชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ด้านค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค จากความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น และในระยะข้างหน้าค่าเงินบาทก็ยังมีความผันผวน ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่

ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางในอนาคตได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่วนการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ออกมาตรการมากำกับดูแลได้ระดับหนึ่ง ซึ่ง กนง.ก็ยังให้ติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน และความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี กนง.มองไปข้างหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลงบ้าง

“และยังมีความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่จะส่งผลกระทบมากขึ้น” นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง.กล่าวและว่า ในการประชุม 19 ธ.ค. 61 รอบสุดท้ายของปีจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจด้วย

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เสียงแตกที่เพิ่มขึ้น 1 เสียงให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มีโอกาส “สูงขึ้น” ที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งภายในรอบการประชุม 2 ครั้งต่อไป (เดือน ธ.ค. 61 และ ก.พ. 62) ซึ่งปัจจัยที่ต้องจับตาและเป็นตัวกำหนดความเร็วช้าของการขึ้นดอกเบี้ย คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะออกมาใน 1-2 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะตัวเลขมูลค่าส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยว หากตัวเลขออกมาใกล้เคียงกับที่คาดและไม่น่ากระทบต่อโมเมนตัมของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก และเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบเป้าหมายก็มีโอกาสสูงที่ กนง.เสียงส่วนใหญ่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบ ธ.ค. 61 นี้

แต่หากตัวเลขส่งออกหรือท่องเที่ยวออกมาต่ำกว่าคาดมากจนกระทบต่อโมเมนตัมของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ กนง.ก็อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และไปรอประเมินอีกครั้งในการประชุมต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม วัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยรอบนี้น่าจะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปกระทบต่อโมเมนตัมของเศรษฐกิจมากเกินไป โดยจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% และพักเพื่อประเมินผลกระทบ

EIC ประเมินอีกว่าจะเห็น ธปท.ใช้เครื่องมือดำเนินการดอกเบี้ยนโยบายผสมผสานกับการใช้มาตรการ macroprudential ด้วย ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งออกมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯเพื่อความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

“เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยต้องการเสียงเพิ่มอีกเสียงเดียวเท่านั้น ที่สำคัญโทนการสื่อสารของ กนง.ครั้งนี้ก็สอดคล้องกับ 2 ครั้งก่อนหน้าที่มองว่าความจำเป็นของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากมีน้อยลง” EIC ระบุ

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา “ส่องทิศทางเศรษฐกิจปีกุน” ว่า ปี 2562 เศรษฐกิจไทยคาดการณ์โต 4% ปัจจัยหลักมาจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว โดยภาคส่งออกคาดโต 5% ชะลอตัวลง และจะต้องจับตาดูผลการเจรจาของ “โดนัลด์ ทรัมป์-สี จิ้นผิง” ปลาย พ.ย.นี้ หากเจรจาออกมาดีก็จะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ภาคท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนลดลง

“การใช้จ่ายภาครัฐปีหน้ายังดูเหนื่อย ๆ จากการเบิกจ่ายที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะต้องลุ้นการเลือกตั้งว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารมีนโยบายอย่างไร การลงทุนภาคเอกชนถ้าโครงการอีอีซีเดินหน้าต่อ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนให้กลับสู่ภาวะปกติได้ การบริโภคยังได้รับผลกระทบเชิงลบจากกำลังซื้อที่หดตัวลง และการบริโภคในกลุ่มฐานราก ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงที่ 79-80%”

นายกอบสิทธิ์ประเมินว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่เสียงให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย จะ “เพิ่มขึ้น” ในการประชุมระยะข้างหน้า แต่กลัวว่าอาจจะมีคนไม่มาเข้าประชุมเหมือนที่ผ่านมาทำให้ “เสียงเสมอ” กันได้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง คือ ช่วงไตรมาสแรกก่อนเลือกตั้ง และปลายปีหน้า

“ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่า เดือน ธ.ค.นี้จะปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐจะ “กว้าง” มากขึ้นจากปัจจุบันมีส่วนต่าง 0.75% และภายในสิ้นปีหน้าจะเพิ่มขึ้นราว 1.25%”

นายกอบสิทธิ์คาดแนวโน้มสิ้นปีหน้าจะอ่อนค่าอยู่ที่ 34.00 บาท จากสิ้นปีนี้ที่คาดไว้ที่ 33.00 บาท ซึ่งหากค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค จะส่งผลให้ผู้ส่งออกเกิดการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันได้

และหาก กนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้นก็จะส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินบาทได้ ก็จะกระทบผู้ส่งออกโดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีต้นทุนเป็นสกุลเงินบาทแต่รายได้เป็นสกุลดอลลาร์