ลุ้นสัญญาณจีดีพีไตรมาส 2

คอลัมน์ ภาวะหุ้นเงินบาท

ตลาดหุ้นรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14-17 ส.ค.) คึกวันซึมวัน โดยเปิดต้นสัปดาห์ (15 ส.ค.) ตลาดหุ้นผ่อนคลายจากปัญหาคาบสุมทรเกาหลีเหนือ ทำให้นักลงทุนมีแรงอั้นซื้อตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้า บวกกับวันหยุดชดเชยวันแม่ 3 วัน จึงพาเหรดกันกลับมาเก็งกำไรในตลาดหุ้น ดันดัชนีปิดที่ระดับ 1,567.19 จุด บวก 5.88 จุด มูลค่าการซื้อขาย 36,976 ล้านบาท

กลางสัปดาห์ (16 ส.ค.) มีแรงขายทำกำไร ขณะที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศกำไรงวดไตรมาส 2/2560 ออกมากันมากแล้วเกือบ 90% มีกำไรสุทธิรวมราว 2.1 แสนล้านบาท ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ในประเทศไร้ข่าวบวก โดยผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ดัชนีปิดตลาดที่ 1,567.52 จุด เพิ่มขึ้น 0.02 จุด มูลค่าการซื้อขาย 37,627.65 ล้านบาท

ท้ายสัปดาห์ (17 ส.ค.) ตลาดหุ้นยังซึมเซา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลต่อกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีการยุบสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ผู้บริหารบริษัทเอกชนซึ่งเป็นสมาชิกได้ลาออกเพื่อประท้วงแนวคิดของทรัมป์ที่มีต่อเหตุประท้วงเหยียดผิวในเวอร์จิเนีย ขณะที่เงินต่างชาติยังไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น หนุนดัชนีปิดแดนบวก 1,568.95 จุด เพิ่มขึ้น 1.43 จุด หรือ 0.09% มูลค่าการซื้อขาย 47,001.78 ล้านบาท

ในช่วง 3 วันทำการ (15-17 ส.ค.) นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 3,254.03 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 666.15 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 817.25 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 3,405.12 ล้านบาท

สัปดาห์นี้ (21-25 ส.ค.) บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินแนวรับที่ 1,550 จุด แนวต้านที่ 1,580 จุด ปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ การตัดสินคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในวันที่ 25 ส.ค. นี้และสภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส2/60 ซึ่งน่าจะมีสัญญาณที่ดีจากภาคการส่งออก

สำหรับค่าเงินบาทกรอบสัปดาห์ (15-18 ส.ค.) ยังแข็งค่ามากกว่าอ่อนค่า เริ่มที่ต้นสัปดาห์ (15 ส.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.25-33.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากท้ายสัปดาห์ก่อน หลังสหรัฐประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ยังเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทระหว่างวันเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.25-33.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ 33.25-33.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

กลางสัปดาห์ (16 ส.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.30-33.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากวันก่อนหน้า หลังดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าจากแรงหนุนข้อมูลยอดค้าปลีกเดือน ก.ค.ของสหรัฐ ที่ขยับขึ้น ดีกว่าคาด และได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภค ทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง โดยมาปิดตลาดที่ 33.29-33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ท้ายสัปดาห์ (18 ส.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.24/26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวทรงตัวหลังนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอดูสถานการณ์ความรุนแรงในบาร์เซโลน่า

ทิศทางสัปดาห์นี้ (21-25 ส.ค.) ธนาคารกรุงเทพ คาดการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องติดตาม การส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยของประธานเฟดในการประชุม “แจกสันโฮลซิมโพเซียม” ที่มีประธานของหลายธนาคารกลางร่วมประชุม