เงินบาทอ่อนค่า หลังจีดีพีไตรมาส 3/2561 ออกมาต่ำกว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/11) ที่ระดับ 32.9093 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 32.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าในช่วงสาย หลังนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3 ปี 2561 ว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจาก 4.6% ในไตรมาสก่อน โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ผ่านมาชะลอตัวจากการส่งออกที่หดตัว 0.1% ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2561 ลงเหลือ 4.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ในขณะที่ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวสูงกว่าในไตรมาส 3 เนื่องจากในไตรมาส 3 มีผลของปัจจัยชั่วคราวจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและในวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง รวมถึงการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว

สำหรับปัจจัยต่างประเทศนั้น นายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวถึงการขึ้นดอกเบี้ยว่า เฟดใกล้ถึงจุดที่จะกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เป็นกลางแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป การอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ โดยนักลงทุนมองว่าการแสดงความเห็นดังกล่าวของรองประธานเฟดนั้น อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.85-33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (19/11) ค่าเงินยูโรปิดตลาดที่ระดับ 1.1407/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 1.1342/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้ว่านักลงทุนยังคงกังวลต่อภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอังกฤษ หลังจากที่รัฐมนตรีลาออกหลายราย เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อข้อตกลงว่าด้วยการยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยเดิมทีรัฐมนตรีที่ลาออกต่างก็เป็นผู้สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจาก EU โดยพวกเขาระบุว่า ข้อตกลง Brexit ระหว่างอังกฤษและ EU ไม่ได้บ่งชี้ถึงการแยกตัวอย่างเด็ดขาดจาก EU ตามที่ชาวอังกฤษที่ลงประชามติในปี 2559 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1391-1.1418 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1418/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (19/11) เปิดตลาดที่ระดับ 112.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 113.97/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนของดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่านายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แสดงความวิตกกังวลว่าการที่ธนาคารระดับภูมิภาคของญี่ปุ่นมีกำไรลดลง จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานนั้น อาจทำให้ระบบการเงินของประเทศขาดเสถียรภาพ และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในท้ายที่สุด ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.65-112.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) (19/11) ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกันยายนของยุโรป (20/11) ดัชนีราคาผู้ผลิต (FFI) เดือนตุลาคมของเยอรมัน (20/11) ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนตุลาคมของสหรัฐ (20/11) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนตุลาคมของสหรัฐ (21/11) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนพฤศจิกายนของยุโรป (22/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -+2.1/-1.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.2/+1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”