ตลาดรออะไร ในเดือนพฤศจิกายน ?

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นายสรพล วีระเมธีกุล บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

ก้าวเข้าสู่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2562 แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวผันผวน ท่ามกลางปัจจัยที่เข้ามากระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยสำหรับช่วงโค้งสุดท้ายนี้ คาดยังมีปัจจัยต่าง ๆ อีกมากมายที่น่าจับตา ซึ่งอาจส่งผลให้ความผันผวนยังคงมีต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี ดังนั้น เราจึงสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่น่าติดตามในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้นักลงทุนได้เตรียมกลยุทธ์รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเหตุการณ์ที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

1) การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ 6 พ.ย. : ถือเป็นประเด็นสำคัญมากในเดือนนี้ที่ทั่วโลกต่างจับตามอง โดยการเลือกตั้งรอบนี้จะมีการเลือกตั้งวุฒิสภา 35 ท่าน จากทั้งหมด 100 ท่าน และ ส.ส.ทั้งสิ้น 435 ท่าน โดยประเด็นที่ตลาดจับตา คือพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมาก ทั้งในสภาสูง (วุฒิสภา) และสภาล่าง (ส.ส.) จะยังสามารถรักษาคะแนนเสียงได้ทั้ง 2 สภาเหมือนเดิมหรือไม่ โดยล่าสุดผลการนับคะแนนออกมาเรียบร้อยแล้ว พบว่าทางด้านพรรคเดโมแครต สามารถพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่าง (ส.ส.) ตามที่ตลาดประเมินไว้ ส่วนด้านสภาสูง ทางพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากได้เช่นเดิม โดยในช่วงถัดไปคงติดตามอย่างใกล้ชิดในประเด็นนโยบายต่าง ๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น ประเด็นปรับลดภาษี หรือท่าทีของปัญหาสงครามการค้า จะเบาบางหรือไม่ หลังจากพรรครีพับลิกันไม่ได้ครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภา

2) จับตาความคืบหน้าการเลือกตั้งของไทย : หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วันหลังจากวันประกาศหรือมีผลราวเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งถือว่ากระบวนการเลือกตั้งเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนนี้แนะให้ติดตามประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ การปลดล็อกกิจกรรมทางการเมือง ที่จะทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ออกมาหาเสียงได้อย่างเสรี ถือเป็นแรงหนุนหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นจิตวิทยาเชิงบวกเพิ่มเติมต่อภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมได้

3) ประเด็นการปรับลด LTV ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ : ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีบทสรุปที่ชัดเจนต่อประเด็น loan to value (LTV) หรืออัตราการให้สินเชื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่อมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสัดส่วน 90-95% โดยจากข้อมูลการชี้แจงเบื้องต้นที่มีโอกาสปรับลดสัดส่วนมาอยู่ในระดับไม่เกิน 80% สำหรับบ้านหลังที่สอง หรือบ้านที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท และอาจเริ่มใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2562 แต่ท้ายที่สุด คงต้องรอบทสรุปที่ชัดเจน ซึ่งคาดจะออกมาในช่วงกลางเดือนนี้ โดยเราประเมินว่า จุดสำคัญของประเด็นนี้มี 2 จุด คือ 1.เรื่องการปรับลดสัดส่วน LTV และ 2.วันที่เริ่มใช้จริง โดยสำหรับประเด็นแรก คือ เรื่องสัดส่วน LTV เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะปรับลดลงมา เพื่อช่วยลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียม ส่วนประเด็นที่สอง คือ วันที่เริ่มใช้จริง ประเด็นนี้คาดว่าอาจมีการเลื่อนออกไปได้อีก เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงถัดไป แน่นอนว่าหากเกิดการเลื่อนออกไป จะเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสกลับมาเก็งกำไรระยะสั้นอีกรอบหนึ่ง

4) การประชุม G20 ในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้ ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งถือเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ คือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐ และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี รวมถึงกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย ซึ่งหากรวมขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศในกลุ่ม G20 จะคิดเป็น 90% ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด โดยรอบนี้คาดว่าจะมุ่งประเด็นไปที่การแก้ไขปัญหาสงครามการค้าโลก (trade war) ที่ปัจจุบันยืดเยื้อจนเริ่มส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกบางจุดชะลอลง ซึ่งหากปล่อยไปมากกว่านี้อาจส่งผลอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้ โดยล่าสุดทางด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้มีการเผยว่า มีการสนทนานอกรอบเบื้องต้นกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งถือว่าการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งเราคงต้องตามกันต่อไปว่า บทสรุปของสงครามการค้าโลกจะจบลงอย่างไร


จะเห็นได้ว่าปัจจัยในเดือนนี้มีค่อนข้างมากทีเดียว และบทสรุปในหลายปัจจัยค่อนข้างยากในการประเมิน ดังนั้น จึงคาดว่าตลาดเดือนนี้มีโอกาสแกว่งผันผวนสูงในกรอบ 1,600-1,750 จุด โดยประเมินจังหวะย่อเป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี ที่คาดผลการดำเนินงานเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (STEC, BEM), กลุ่มเช่าซื้อ (SAWAD, MTC) กลุ่มค้าปลีก (HMPRO, BJC) เป็นต้น