ธนารักษ์ จับมือ ปปง. ส่งมอบทรัพย์สินกลุ่มอสังหาฯ หลังศาลพิพากษาตกเป็นของแผ่นดิน เร่งพิจารณาทรัพย์สิน3,600รายการ

ธนารักษ์ จับมือ ปปง. ส่งมอบทรัพย์สินกลุ่มอสังหาฯ หลังศาลพิพากษา ตกเป็นของแผ่นดิน เร่งพิจารณาทรัพย์สิน 3,600 รายการ พร้อมดึงหลักเกณฑ์-วิธีการส่งมอบทรัพย์สินกลุ่มอสังหาฯให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ได้ร่วมลงนามในหลักเกณฑ์และวิธีการส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตกเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้แก่กรมธนารักษ์ โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 5 (4) กรณีทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบอันเดียวกับที่ดิน และสิ่งซึ่งเป็นส่วนควบของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ให้ส่งมอบแก่กรมธนารักษ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมธนารักษ์และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กำหนด

นายอำนวย กล่าวต่อว่า กรมธนารักษ์และสำนักงาน ปปง.ได้พิจารณาและมีความเห็นชอบร่วมกัน แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ กรณีที่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้แก่กรมธนารักษ์ โดยมีอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานคณะทำงาน ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกรมบังคับคดี ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นคณะทำงาน และผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เป็นเลขานุการฯ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตกเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้แก่กรมธนารักษ์ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ได้ลงนามร่วมกันเป็นต้นไป

“สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้กับธนารักษ์ เราได้วางแผนบริหารจัดการทรัพย์สินกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากสำนักงาน ปปง. โดยการเอาทรัพย์สินเหล่านี้ขึ้นเว็บไซต์ของกรมธนารักษ์เพื่อให้ส่วนราชการที่มีความประสงค์และมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ราชพัสดุก็สามารถแจ้งความประสงค์ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาในส่วนนี้เป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเมื่อมีการพิจารณาอย่างเหมาะสมแล้วจะมีการดูแลให้เช่าพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อทำประโยชน์ต่อไป แต่ในกรณีที่พื้นที่บริเวณนั้นไม่เหมาะสมจะมีการประมูลเพื่อขายทอดตลาดออกไป” นายอำนวย กล่าว

นายปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการริบทรัพย์สินกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในระดับสูง โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี2542 จนถึงปัจจุบันสำนักงาน ปปง.ได้ดำเนินการริบทรัพย์สินและนำส่งให้กระทรวงการคลังรวมมูลค่า มากกว่า1,900 ล้านบาท โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ได้นำส่งแล้ว จำนวน167 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท เช่นที่ดินบริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ 1,247 ไร่เศษ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้นำไปพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ฯลฯ

นอกจากนี้สำนักงาน ปปง.อยู่ระหว่างดำเนินการริบทรัพย์สินกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอีก 3,600 รายการมูลค่าไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท โดยหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้การส่งมอบทรัพย์สินกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น


“ส่วนการริบทรัพย์สินกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 3,600 รายการ ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี โดยกรณีแรกอาจคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหาย หรืออีกกรณีศาลมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน” นายปรีชากล่าว