ตัวเลขส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น สถานการณ์ Brexit ใกล้คลี่คลาย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/11) ที่ 32.90/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 32.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นส้ัปดาห์ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าอย่างมีนัยยะ หลังจากนาย ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3 ปี 2561 ว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอตัวลงจาก 4.6% ในไตรมาสก่อน จากการส่งออกที่หดตัวลง 0.1% ทั้งนี้ ศสช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2561 ลงเหลือ 4.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5%

ในขณะที่ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวสูงกว่าในไตรมาส 3 แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการเข้าถือครองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่ตลาดได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งจากถ้อยคำแถลงจากนายจอห์น วิลเลี่ยมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวว่า เขาคาดว่าจะยังคงดำเนินวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 18-19 ธันวาคม ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าว (ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้) ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากจุดต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยตัวเลขการค้าประจำเดือนตุลาคม โดยภาพรวมการส่งออกขยายตัว 8.7% คิดเป็นมูลค่า 21,757.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 11.23% มีมูลค่า 22,037.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 279.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดว่าการส่งออกในปี 61 จะยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.87-33.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (23/11) ที่ระดับ 32.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (19/11) ที่ระดับ 1.1407/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 1.1342/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นถึงแม้ว่านักลงทุนยังคงกังวลต่อภาวะไร้เสถียรภาพทาการเมืองในอังกฤษ หลังจากที่รัฐมนตรีลาออกหลายราย เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (ฺBrexit) ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยเดิมทีรัฐมนตรีที่ลาออกต่างก็เป็นผู้สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจาก EU โดยพวกเขาระบุว่า ข้อตกลง Brexit ระหว่างอังกฤษและ EU ไม่ได้บ่งชี้ถึงการแยกตัวอย่างเด็ดขาดจาก EU ตามที่ชาวอังกฤษที่ลงประชามติในปี 2559

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับปัจจัยเชิงลบจากความกังวลเรื่องงบประมาณของอิตาลี เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2019 ของอิตาลีฝ่าฝืนกฎการคลังของสหภาพยุโรป โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอิตาลีกับอียูจะขัดแย้งกันต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมในยูโรโซน แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลงระหว่างสัปดาห์ หลังจากที่ประเด็นความขัดแย้งเรื่องงบประมาณของอิตาลีมีท่าทีคลี่คลาย โดยนายแมตเตโอ ซัลวินี รองนายกรัฐมนตรีอิตาลี แถลงการณ์ว่า เขาจะทำการหารือกับสหภาพยุโรปโดยจะชี้แจงเกี่ยวกับแผนการปฏิรูป และแผนการลงทุนของอิตาลี หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ปฏิเสธที่จะให้การรับรองงบประมาณประจำปี 2562 ของอิตาลีและประกาศเตรียมลงโทษอิตาลีโดยการสั่งปรับเนื่องจากร่างงบประมาณดังกล่าวขัดต่อกฎหมายทางการเงินของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี กล่าวว่ารัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของงบประมาณ และเขาจะหารือเรื่องดังกล่าวกับนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ในวันอาทิตย์นี้ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1356-1.1472 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/11) ที่ระดับ 1.1412/14 ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (19/11) ที่ระดับ 112.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/11) ที่ระดับ 113.37/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะออกมาแสดงคความวิตกกังวลว่า การที่ธนาคารระดับภูมิภาคของญี่ปุ่นมีกำไรลดลง จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานนั้น อาจทำให้ระบบการเงินของประเทศขาดเสถียรภาพ และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในวันอังคาร (20/11) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ออกมาย้ำเปิดเผยว่า BOJ ยังไม่มีแผนที่จะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในระยะเวลาอันใกล้นี้ นายคุโรดะยังระบุด้วยว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นั้น เป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า BOJ อาจยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อบรรเทาผลกระทบของสถาบันการเงินของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ BOJ ที่ระบุว่า การยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบจะช่วยเร่งอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.62-114.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/11) ที่ระดับ 112.84/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ