เล็งต่อยอดเพิ่ม ID พร้อมเพย์ ธปท.ศึกษาขยายใช้อีเมล์-ลุย QRCode ส.ค.

ธปท.เล็งเพิ่มประเภทไอดีผูกบัญชี รับกระแสใช้บริการพร้อมเพย์รุ่ง เผยล่าสุดช่วงสิ้นเดือน ก.ค. ธุรกรรมโอนเงินพุ่ง 2.9 แสนรายการต่อวัน ทยอยเปิดบริการชำระเงินรูปแบบใหม่ต่อเนื่อง เผยสิ้นเดือน ส.ค.นี้ เปิดบริการ “QR Code” จากนั้นเดือน ก.ย.เปิดตัว “e-Walllet” ส่วนปลายปีลุย “ReQuest to pay” รอดีเดย์ร่าง พ.ร.บ.ระบบชำระเงินบังคับใช้ ผู้ให้บริการการเงิน 111 ราย ต้องยื่นขอใบอนุญาต-ขอขึ้นทะเบียนกับ ธปท.ใหม่หมด

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. มีแผนระยะต่อไป หากการใช้พร้อมเพย์ได้รับความนิยมใช้กันมากขึ้น ธปท.จะพิจารณาเพิ่มไอดี (ระบุตัวตน)สำหรับจะใช้ผูกกับบัญชีเงินฝาก

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา

ทั้งนี้ ปัจจุบันให้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ได้ 2 หมายเลข กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนได้ 1 หมายเลข ในกรณีบัญชีของบุคคลธรรมดา และผูกกับหมายเลขจดทะเบียนนิติบุคคล 1 หมายเลข ในกรณีบัญชีนิติบุคคล

“โดยอาจจะขยายไปสู่การผูกกับอีเมล์ หรืออื่น ๆ ที่เหมาะสมขึ้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป” นางสาวสิริธิดากล่าว

สำหรับล่าสุด ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์กรณีบุคคลธรรมดา (ณ 10 ส.ค.) มีจำนวนอยู่ที่ 32 ล้านหมายเลข หรือคิดเป็นยอดโอนเงินสะสม 105,370 ล้านบาทขณะที่การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. มีจำนวนอยู่ที่ 2.9 แสนรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าการโอนเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 5,238 บาทต่อรายการ ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนพร้อมเพย์สำหรับนิติบุคคล มียอดลงทะเบียนอยู่ที่ 45,300 บัญชี ณ วันที่ 13 ส.ค. 2560

“วันนี้เราคงต้องดูว่าความต้องการใช้บริการพร้อมเพย์มีมากน้อยอย่างไร โดยพร้อมเพย์เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบชำระเงิน และสามารถต่อ ยอดบริการอื่น ๆ ต่อเนื่องไปได้ หากประชาชนมีความต้องการใช้หลากหลาย ก็ต้องตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเราต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป” นางสาวสิริธิดากล่าว

นางสาวสิริธิดากล่าวอีกว่า ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ ธปท.จะเปิดให้มีการใช้บริการ QR Code (คิวอาร์โค้ด) ในการชำระเงิน และภายในเดือน ก.ย.นี้ ก็จะเปิดให้บริการเชื่อมต่อบริการพร้อมเพย์กับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Walllet) เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงิน และภาคธุรกิจได้รับความสะดวกสบายขึ้น โดยไม่ต้องพกพาเงินสด และลดขั้นตอนการโอนเงิน การทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต และหลังจากนั้นในไตรมาส 4 จะเปิดตัวระบบเรียกเก็บเงินผ่านพร้อมเพย์สำหรับภาคธุรกิจ (ReQuest to pay) ต่อเนื่องกันไป

ด้านความคืบหน้าในการติดตั้งเครื่องรับบัตร (EDC) ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2560 มีการติดตั้งไปแล้ว 184,000 เครื่อง นางสิริธิดา กล่าวยอมรับว่า การติดตั้ง EDC ค่อนข้างล่าช้ากว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ เนื่องจากค่อนข้างมีอุปสรรคในการติดตั้ง อาทิ รายชื่อร้านค้าที่ให้ไปอาจไม่ได้ประกอบธุรกิจ หรือไม่มีบริการรับซื้อสินค้า เป็นต้น

ส่วนร่างพระราชบัญญัติระบบชำระเงิน พ.ศ. 2560 ที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 ส.ค.นั้น นางสาวสิริธิดาคาดว่า จะมีการลงประกาศราชกิจจานุเบกษาได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ปี 2561

สำหรับ พ.ร.บ.ระบบชำระเงินฉบับใหม่นี้ จะเป็นการรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงิน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551, ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับ 58 (ปว.58) และ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เข้าไว้ด้วยกันเป็นฉบับเดียว เพื่อให้เอื้อต่อการกำกับดูแล การทำธุรกิจของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินในอนาคต

ทั้งนี้ หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ภายใน 120 วัน กำหนดผู้ให้บริการทั้งหมด ทั้งสถาบันการเงิน ธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) และผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ จะต้องมายื่นขอใบอนุญาตและขอขึ้นทะเบียนกับ ธปท.ใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับการชำระเงินทั้งสิ้น 111 ราย ในจำนวนนี้เป็นสถาบันการเงินรวม 36 ราย

“การร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมา ทำให้สถาบันการเงินทำงานคล่องตัวขึ้น ขณะที่ผู้กำกับก็ง่ายต่อการดูแล เพราะอดีตการดูแลต้องดูถึง 3 ฉบับ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และล่าช้าในการทำธุรกรรม นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังรองรับนวัตกรรมชำระเงินใหม่ ๆ และดูแลผู้บริโภคได้มากขึ้น อย่างเช่น ผู้ให้บริการอีมันนี่ที่จะให้แยกบัญชีเงินลูกค้าออกมา หากล้มละลาย เงินส่วนนี้ก็จะไม่ถูกนับรวม และสามารถให้คืนลูกค้าได้ เป็นต้น” นางสาวสิริธิดากล่าว