เงินบาทอ่อนค่า หลังศก.ไทยไตรมาส3 โตน้อย จับตาสัปดาห์หน้า’ปัจจัยตปท.’

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

“เงินบาทขยับอ่อนค่า ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระตุ้นให้ตลาดบางส่วนเริ่มประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปีหน้าอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต่อมา โดยมีปัจจัยลบจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของไทยที่เติบโตน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม เนื่องจากตลาดยังคงรอความชัดเจนของข้อตกลง BREXIT และประเด็นทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน

ในวันศุกร์ (23 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.03 เทียบกับระดับ 32.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดอาจรอติดตามผลการหารือนอกรอบการประชุม G20 ในประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และผลการประชุมสุดยอดของผู้นำ EU ในประเด็นเรื่องข้อตกลง BREXIT ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ยอดขายบ้านใหม่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนต.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ย. จีดีพีไตรมาส 3/2561 (Prelim) และบันทึกการประชุมเฟด ขณะที่ ปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลเงินเฟ้อและจีดีพีของประเทศในฝั่งยุโรป และรายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนต.ค.ของไทย

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวปลายสัปดาห์ แต่ยังปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,622.10 จุด ลดลง 0.79% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 8.04% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 37,105.89 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.15% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 399.19 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน ขณะที่ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายเกือบตลอดสัปดาห์ตามทิศทางของตลาดหุ้นในต่างประเทศ และความความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการเจราจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ ตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 3/2561 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ก็กดดันบรรยากาศของตลาดในภาพรวม นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก เพิ่มแรงกดดันต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์รับข่าวที่สะท้อนถึงประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับการเลือกตั้ง


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,610 และ 1,600 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนอกรอบการประชุม G20 และถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดรวมถึงเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2561 บันทึกการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ยอดขายบ้านใหม่ รวมถึงรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนต.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ย.ของจีนและญี่ปุ่น และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น