รัฐล้อมคอกส่งออก “สุรา-เบียร์” อุดรูรั่วลอบขายภายในประเทศ

อธิบดีสรรพสามิต เร่งอุดรูรั่วชิปปิ้งเวียนเทียนนำ “เหล้า-บุหรี่-เบียร์-ไวน์” ส่งออกกลับมาขายในประเทศ เล็งกลับไปใช้การตรวจปล่อยสินค้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรตามแนวทางกฎหมายเก่า ชี้ไร้เสียงค้านผู้ประกอบการ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้น หรือคืนภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากร และสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิ์ได้รับคืนหรือยกเว้นภาษี (ฉบับที่ 2) โดยเชิญผู้ประกอบการส่งออกสินค้า ทั้งสุรา เบียร์ ยาสูบ และไวน์ มาร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีการตรวจสอบพบว่า มีสินค้าส่งออกบางส่วนถูกวนกลับมาขายในประเทศ ดังนั้น จึงต้องทบทวนในส่วนวิธีปฏิบัติพิธีการตรวจปล่อยสินค้าของกรมสรรพสามิต เพื่อทำให้สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกันกับพิธีการตรวจปล่อยสินค้าของกรมศุลกากร โดยเพิ่มระบบไอทีเข้าไปช่วยในการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มอุปสรรคแก่ภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สรรพสามิตพื้นที่มีอำนาจตรวจปล่อยสินค้าร่วมกับกรมศุลกากร จากเดิมให้สรรพสามิตภาค เพื่อไม่ให้มีอุปสรรคในเรื่องการเดินทาง

“เดิมจะมีมาตรฐานพิธีการสินค้าส่งออกต่างกัน คือ กรมสรรพสามิตจะตรวจปล่อยเฉพาะหน้าโรงงาน ส่วนด้านชายแดนจะมอบให้กรมศุลกากรดำเนินการตรวจปล่อย แต่ที่ผ่านมามีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน เลยต้องทำให้มีมาตรฐานพิธีการตรวจปล่อยคล้าย ๆ กัน โดยเพิ่มไอทีเข้าไปด้วย ทั้งนี้ กรณีส่งออกทางท่าเรือ หรือเครื่องบินไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาเฉพาะส่งออกทางถนน”

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็น ผู้ประกอบการไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งแต่อย่างใด ซึ่งทางกรมสรรพสามิตจะได้รวบรวมความคิดเห็นและเร่งปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 บังคับใช้ ได้เน้นอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกมากยิ่งขึ้น โดยการตรวจปล่อยสินค้าส่งออก ทั้งสุรา ยาสูบ เบียร์ และไวน์ จะมอบให้กรมศุลกากรทำแทนที่ด่านศุลกากร อย่างไรก็ดี หลังจากใช้แนวทางดังกล่าว อาจจะมีรูรั่วอยู่บ้าง เพราะสินค้าส่งออกเหล่านี้ได้รับยกเว้นภาษี จึงมีตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) ใช้ช่องว่างนำสินค้าวนกลับมาขายในประเทศ อธิบดีกรมสรรพสามิตจึงเห็นว่าควรปรับปรุง โดยให้กลับไปใช้แนวทางตรวจปล่อยร่วมกันเหมือนตอนกฎหมายฉบับเก่า

“สินค้าที่วนกลับเข้ามาขาย อาจจะเกิดจากพวกชิปปิ้งที่ทำกัน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ตอนนี้ทางกรมจึงพิจารณาและเปิดฟังความเห็นว่า ถ้าแก้ไขได้ก็จะกลับไปใช้พิธีการตรวจร่วมแบบเดิม”