เว้นภาษี AMC ซื้อหนี้น็อนแบงก์ ขุนคลังเชียร์ บสก.เข้าตลาดหุ้น

“อภิศักดิ์” ลั่นคงสิทธิประโยชน์ภาษี AMC ซื้อหนี้เน่าน็อนแบงก์เหมือนกรณีซื้อหนี้จากแบงก์ คาดกฎหมายเปิดทางเอเอ็มซีซื้อหนี้น็อนแบงก์ผ่าน สนช.ได้เร็ว ๆ นี้ ประกาศหนุน บสก.เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในงาน BAM ก้าวสู่ปีที่ 20 เชื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อีกมาก แย้มต่างชาติดอดเจรจาขอร่วมทุน ด้าน BAM เผย 20 ปีแก้หนี้เน่าไปกว่า 2 แสนล้านบาท คืนเงิน FIDF กว่า 7.5 หมื่นล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงาน “BAM ฉลองความสำเร็จก้าวสู่ปีที่ 20” ว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 อยู่ เพื่อเพิ่มขอบเขตให้ AMC สามารถรับซื้อหนี้จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ได้ จากเดิมซื้อได้แต่หนี้ของสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ บสก. (BAM) ด้วย ทั้งนี้ คาดจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็ว ๆ นี้

“ต่อไปถ้าน็อนแบงก์มีปัญหา NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) AMC จะสามารถเข้าไปซื้อได้ โดยกระทรวงการคลังยืนยันว่าจะให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ เช่นเดียวกับการซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน เหตุผลก็คือ นี่คือต้นทุนของประเทศ ถ้าเราไปเก็บภาษี ตัวสิทธิประโยชน์ที่เราเอากลับเข้ามา ก็เป็นต้นทุนของประเทศอยู่ดี แล้วประสิทธิภาพในการดำเนินการแก้หนี้ก็จะลดลง ดังนั้น ก็ยืนยันว่าสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ควรจะเหมือนเดิม”

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ BAM เป็นคนแรกในช่วงจัดตั้งองค์กร ความตั้งใจขณะนั้นอยากให้องค์กรอยู่ได้ยืนยาว เพื่อเป็นหลักของประเทศ เนื่องจากสมัยนั้นก่อนจะตั้ง BAM ยังไม่มี AMC ในลักษณะที่บริหารเองในประเทศไทย ซึ่งจนถึงวันนี้ก็เห็นแล้วว่าผู้บริหาร BAM แต่ละยุคสามารถผลักดันให้องค์กรนี้เป็นหลักของประเทศได้ ซึ่งตนเชื่อว่า BAM จะอยู่ได้ยืนยาวต่อไป

“ตราบใดที่มีแบงก์ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแบงก์ก็ต้องมี NPL แล้วก็ต้องขาย NPL แน่นอน ใครจะไปเก็บไว้ เพราะการแก้หนี้เสียอยู่ที่ความสามารถของพนักงานในการเก็บหนี้ สิ่งนี้คือจุดสำคัญ”

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ทราบว่า BAM อยู่ระหว่างเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะแหล่งเงินจากตลาดทุนจะช่วยให้ BAM สามารถขยายตัวได้อีกมาก แทนที่จะขยายตัวโดยอาศัยหนี้อย่างเดียว โดยนางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM ได้พูดคุยกับตนว่า ต่อไปอาจถึงขั้นให้ BAM ไปรับจ้างแก้หนี้ของต่างประเทศก็ได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต

“ประธานบอร์ด BAM เล่าให้ฟังว่า ขนาดตอนนี้ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีสถาบันใหญ่ ๆ จากต่างประเทศมาเจรจาว่าอยากร่วมทุนด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะเขาก็เห็นว่า สถาบันแบบนี้ถ้าทำได้ดีจะเป็นสถาบันที่อยู่ยืนยาว และทำกำไรได้”

ทั้งนี้ 20 ปีที่ผ่านมา BAM ได้ทำหน้าที่แก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ โดยรับชำระจากการปรับโครงสร้างหนี้และจำหน่ายทรัพย์ไปได้แล้ว 215,470 ล้านบาท และมีการคืนเงินให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แล้ว 75,000 ล้านบาท