“หุ้นค้าปลีก” เตรียมรับอานิสงส์ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

หุ้น

นักวิเคราะห์ 2 โบรกเกอร์ “เคทีบี-กิมเอ็ง” ชี้หุ้นได้อานิสงส์มาตรการรัฐฉีดเงินเข้าบัตรคนจน-มาตรการช็อปช่วยชาติ หนุนหุ้นค้าปลีกแค่น้ำจิ้ม ส่องหุ้น “CPALL-BJC-ROBINS-HMPRO” มีลุ้นกำไรไตรมาส 4/61 ดีต่อเนื่องต้นปีหน้า ฟากเมย์แบงก์ฯ ชี้จีดีพีไตรมาส 3/61 โตต่ำ 3.3% กดดันความเสี่ยง ศก.ไทยขยายตัวระยะสั้น บีบภาครัฐงัดมาตรการอัดฉีดเงินฟื้นการบริโภค

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBS เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.5 ล้านคน โดยมีการเติมเงินในบัตรสวัสดิการให้คนละ 500 บาท รวมเป็นเม็ดเงิน 7,200 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเตรียมออกมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น น่าจะส่งผลต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก ที่ได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจากปกติ

โดยหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดในกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และ บมจ.โรบินสัน (ROBINS) ทั้งนี้ คาดว่า CPALL จะเป็นรายที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดใน 3 ราย จากที่มีจำนวนร้านสะดวกซื้อมากที่สุด และอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุด

“เรามองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จะส่งผลดีต่อหุ้นค้าปลีกโดยตรง แต่อาจไม่ได้กระตุ้นมากนัก ด้วยเม็ดเงิน 7,200 ล้านบาท เมื่อกระจายเม็ดเงินที่ประชาชนจะใช้ในการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยให้แต่ละบริษัท พบว่าจะส่งผลบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายรับรวมของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มค้าปลีก แต่คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยหนุนการบริโภคในไตรมาส 4/61 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของปีให้ดีขึ้นจากปกติ และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/62 ด้วยจากปกติจะไม่ใช่ไฮซีซั่นของกลุ่มค้าปลีก ส่วนภาพหลังมาตรการจบลง คาดว่าหุ้นในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยกำลังซื้ออาจจะแผ่วลง แต่เป็นการแผ่วลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฐานที่ใหญ่ของบริษัท” นายมงคลกล่าว

สำหรับแนวโน้มของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก นายมงคลกล่าวว่า ในช่วงนี้ยังไม่พบความน่าสนใจลงทุนเป็นพิเศษ เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคยังต่ำอยู่ สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมที่ยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง แม้ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น แต่การบริโภคของกลุ่มคนระดับกลางถึงล่างยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังพบว่าการขยายตัวของสาขาก็ลดลงด้วย และในปีหน้าก็คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะโตชะลอตัว จึงคาดว่ากลุ่มค้าปลีกอาจจะอยู่ระดับทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ไตรมาส 3/61 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มค้าปลีก มีกำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว (YOY) 13% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/61 (QOQ) ราว 9% ซึ่งเป็นการเติบโตแบบชะลอตัว แม้กำไรสุทธิจะยังเติบโต แต่ก็มีอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same Store Sales Growth : SSSG) ลดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวโน้มของผลประกอบการหุ้นรายตัว 3 ราย นายมงคลกล่าวว่า CPALL คาดการณ์ไตรมาส 4/61 กำไรสุทธิจะเติบโต 8% จากไตรมาส 3/61 ที่อยู่ 15,377 ล้านบาท และจะทำให้ปีนี้ทั้งปีเติบโต 5% จากปี”60 ที่อยู่ 19,908 ล้านบาท ส่วนปีหน้าคาดว่าโต 13% ส่วน BJC คาดว่าไตรมาส 4/61 กำไรสุทธิขยายตัว 25% จากไตรมาส 3/61 ที่อยู่ 4,524 ล้านบาท และปีนี้ขยายตัวได้ 25% จากปีก่อนอยู่ที่ 5,277 ล้านบาท ส่วนปีหน้าคาดว่าขยายตัวที่ 9% จากปีนี้ และ ROBINS คาดไตรมาส 4/61 เพิ่มขึ้น 38% จากไตรมาส 3/61 ที่อยู่ 2,120 ล้านบาท และคาดปีนี้ทั้งปีเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนที่อยู่ 2,741 ล้านบาท และปีหน้าคาดเพิ่มขึ้น 12%

ด้านบทวิเคราะห์ของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ช่วงไตรมาส 3/61 ออกมาขยายตัวเพียง 3.3% ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเสี่ยงระยะสั้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จึงมีโอกาสที่จะเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเร่งตัวขึ้นในช่วงถัดไป

โดยล่าสุดมีการทุ่มงบฯกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อการฟื้นตัวต่อเนื่องของด้านการบริโภคในประเทศ และจะเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก อย่าง CPALL BJC และ HMPRO (บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์)