ธุรกิจประกันงัดไม้เด็ดต้านโกง ดึงระบบ “e-KYC” จัดระเบียบตัวแทนขาย

สมาคมประกันชีวิตไทยจ่องัด “e-KYC” พิสูจน์ตัวตนใช้กับตัวแทนนายหน้า ตีกรอบมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ ด้าน “เลขาฯสมาคม” ระบุสมาชิก 23 แห่งเปิดช่องแก้ไขข้อกำหนดสัญญาจ้าง “ตัวแทน-บริษัท” ยอมตกลงให้บริษัทประกันมีสิทธิ์เปิดเผยข้อมูลตัวแทน ครอบคลุมพฤติกรรมฉ้อฉลได้ เพื่อสกัดกั้นคนโกงออกจากธุรกิจ เร่งสรุปแนวทางมาตรการเข้าหารือ คปภ.

นายกิตติ ปิณฑวิรุจน์ เลขาธิการสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันคณะทำงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยของสมาคมกำลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน เพื่อวางมาตรการป้องกันการฉ้อฉลที่เกิดขึ้น โดยที่ประชุมโฟกัส 3 ส่วนหลัก ๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมการฉ้อฉลของตัวแทนนายหน้า ซึ่งต่อไปการรับตัวแทนแต่ละบริษัทต้องมีบรรทัดฐานเดียวกันหมด คือ ต้องตรวจสอบประวัติ (เสื่อมเสีย) ก่อนรับเข้าทำงาน ที่สำคัญสมาคมเล็งเห็นว่าการพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) เป็นแนวปฏิบัติหนึ่งที่จะทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบได้

“ในอดีตเมื่อตัวแทนทำผิด บริษัทประกันจับได้มักตกลงกันว่า ให้ตัวแทนนำเงินที่ยักยอกไปนั้นเอามาจ่ายคืน โดยที่บริษัทจะไม่ take action และจะปล่อยไป ซึ่งบางบริษัทก็ไม่ขึ้น blacklist ทำให้ตัวแทนเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ในธุรกิจ และไปทำผิดกับบริษัทรายอื่น ๆ โดยที่บางรายทำผิดไว้ 3-4 แห่ง จึงยังเป็นช่องให้ผู้ไม่สุจริตเข้ามาหากินตรงนี้เยอะ” นายกิตติกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้สมาคมจะยังไม่สามารถทำ e-KYC ตัวแทนประกันชีวิตทั้งระบบได้ แต่สิ่งที่สมาคมขับเคลื่อนจนสำเร็จแล้วคือ การให้แต่ละบริษัททำข้อกำหนดที่อยู่ในสัญญาจ้างระหว่างตัวแทนกับบริษัทว่า บริษัทประกันมีสิทธิ์จะเปิดเผยข้อมูลตัวแทนได้ ดังนั้นหากตัวแทนที่ “กระทำผิด” ในภายหลัง บริษัทมีสิทธิ์นำข้อกำหนดในสัญญาไปเปิดเผย ซึ่งรายละเอียดจะครอบคลุมถึงพฤติกรรมการฉ้อฉลที่เกิดขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีการบังคับใช้แล้ว

“เราต้องการคัดคนที่มีประวัติด่างพร้อยออกไป โดยแต่ละบริษัทไม่ควรรับ ซึ่งการทำ e-KYC จะทำให้รู้เขารู้เรา เมื่อก่อนอาจเช็กกันยาก เวลาฉ้อโกงบริษัทหนึ่งแล้วย้ายมาทำงานอีกแห่ง แต่ถ้าเราสกรีนคนเหล่านี้ได้ถือว่าเราควบคุมได้บางส่วน ก่อนที่กฎหมายฉ้อฉลประกันภัยจะมีผลบังคับ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของ สนช.” นายกิตติกล่าว

นายกิตติกล่าวว่า ปัจจุบันทางสมาคมยังไม่ได้หารือกันว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนนี้ เพราะที่ผ่านมาสมาคมเคยมีถังข้อมูลกลาง แต่ภายหลังได้ถูกยกเลิกไป จากปัญหาตัวแทนไปฟ้องร้องสมาคมฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเคสนี้เกิดจากที่บริษัทประกันเช็กข้อมูลตัวแทนที่มีประวัติและเปิดเผยไว้ที่สมาคมในขณะนั้น ซึ่งตัวแทนปฏิเสธไม่รับผิด และตัวแทนมาค้นพบว่าข้อมูลที่ได้มาจากสมาคมจึงฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่าจริง ๆ แล้ว สมาคมเก็บข้อมูลไม่ได้ ทั้งนี้ปัจจุบันทางสมาคมยังไม่ได้แก้ไขข้อสัญญาให้รวมไปถึงอนุญาตให้สมาคมเก็บข้อมูลได้ ซึ่งขณะนี้กำลังเวิร์กช็อปกันอยู่ว่าควรจะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้สมาคมเป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูล โดยไม่ติดขัดเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ คาดว่าเมื่อสรุปมาตรการแล้วเสร็จจะเข้าไปเสนอ คปภ.

“การทำ e-KYC เราจะทำขึ้นมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทาง คปภ.เห็นความสำคัญตรงนี้ และตั้งเป็นเป้าหมายของ คปภ.ในปีหน้าเหมือนกัน”


สำหรับพฤติกรรมการฉ้อฉลของลูกค้า บางครั้งจะมีลูกค้าบางรายที่ร่วมมือกับตัวแทนเพื่อไปไล่เบี้ยกับบริษัทประกัน ยกตัวอย่างเช่น ตัวแทนออกโบรชัวร์ที่ไม่ใช่ของบริษัท และกำหนดให้อัตราดอกเบี้ย 10% โดยที่บริษัทไม่รู้เรื่อง แต่ตัวแทนและลูกค้าวางแผนเพื่อแบ่งค่าคอมมิสชั่นกัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังคงต้องรับผิด จึงถกเถียงกันมาตลอดว่าจะหามาตรการป้องปรามให้เด็ดขาดอย่างไร และสุดท้ายพฤติกรรมการฉ้อฉลของโรงพยาบาลที่เจอมาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องพวกสีเทา คือ รู้ว่าผิด แต่เอาผิดไม่ได้ ซึ่งระบาดหนักคือการเข้าไปนอนโรงพยาบาลทั้งที่ตัวเองไม่ได้ป่วย แต่หวังเงินชดเชยรายได้จากประกัน ซึ่งบางค่ายจ่ายวันละ 1 หมื่นบาท จึงกลายเป็นปัญหา เพราะบางคนทำไว้หลายบริษัทและเคลมทุกแห่ง โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีนายทุนจัดทำเป็นกระบวนการ ซึ่งขณะนี้สมาคมกำลังหาตัวอยู่