สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ต.ค. อยู่ในเกณฑ์ดี หลังได้รับแรงหนุนบริโภค-ลงทุนเอกชน-ท่องเที่ยว

“เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนตุลาคม ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี”

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม ปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนตุลาคม ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และสกลนคร เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 12.4 และ 6.2 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเลย กาฬสินธุ์ และขอนแก่น เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.7 และ 17.4 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้มีเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2561 ที่ 847 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 65.8 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.8 และ 9.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนตุลาคม 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.7 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 27.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 และ 4.0 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 21.0 ต่อปี และเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,752 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดชลบุรี และปราจีนบุรี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนตุลาคม ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.7 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 และ 5.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยายนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนตุลาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.6 และ 2.3 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 21.7 และ 24.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 3,937 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,315.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดกำแพงเพชร และลำพูน เป็นสำคัญ จากการลงทุนในโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.4 และ 8.6 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคเหนือในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 78.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเซรามิกส์ และอุตสาหกรรมสมุนไพร เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 8.6 และ 29.5 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 95.1 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 และ 6.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.3 และ 13.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี และสมุทรสาคร สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในตุลาคม 2561 อยู่ที่ 4,718 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 61.1 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ฐานรากกลับมาขยายตัว สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนกันยายน ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1,137.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 142.0 จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และยะลา เป็นสำคัญ จากการลงทุนในโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป และโรงงานผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย สอดคล้องกับรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และยะลา เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับคงที่ และยอดรถยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 2.1 และ 2.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 6.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.0 และ 14.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 3.7 ต่อปี สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 95.1 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค