คลังชู “หักณที่จ่าย” ควบคืนภาษี ชี้เคลมง่ายขึ้น-กล่อมเอกชนหนุนผ่านกม.

ขุนคลังเดินหน้าภาษีอีเพย์เมนต์ กล่อมผู้ประกอบการเข้าระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ข้อดีได้คืนภาษีเร็ว-ไม่ต้องขอเคลม รัฐคิดยอดภาษีเบ็ดเสร็จให้ทันทีตอนหัก ณ ที่จ่าย ด้านอธิบดีสรรพากรโชว์แผนดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษีในยุคดิจิทัล

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาสมาคมการค้า ประจำปี 2561 “Together is Power 2018” ว่า ตามที่รัฐบาลได้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ขึ้นมา ซึ่งได้มีการดำเนินการทั้งการนำระบบพร้อมเพย์มาใช้จนปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการชำระเงินที่ดีที่สุดในอาเซียน รวมถึงการทำให้ระบบรับจ่ายเงินภาครัฐเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เพื่อลดต้นทุนให้แก่ประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีแผนผลักดันให้เกิดระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกมาก โดยต่อไปหากผู้ประกอบการที่ดำเนินการเกี่ยวกับทางด้านภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ทางกระทรวงการคลังจะให้สามารถนำภาษีทุกประเภทมาหักลบ (off-set) กันได้ ยกตัวอย่างเมื่อผู้ประกอบการถูกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย (withholding tax) ไว้ รัฐก็จะคำนวณคืนภาษีให้ทันที จากเดิมที่ต้องไปขอเคลมคืนในภายหลัง ซึ่งผู้ประกอบการจำนวนมากไม่กล้าไปขอคืน เพราะกลัวถูกตรวจสอบ เป็นต้น

“เราคิดเรื่องภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยื่นไฟลิ่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์ การออกใบกำกับภาษีเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งสิ้น คือแทนที่จะต้องแบกเอกสารทุกสิ้นเดือนไปยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรืออื่น ๆ ก็สามารถยื่นเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ กรมสรรพากรก็ออกใบเสร็จเป็นอิเล็กทรอนิกส์ให้ นี่คือสิ่งที่เราหวังไว้ แล้วเราก็คิดไว้ว่า ใครที่ใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เราก็จะให้ภาษีทั้งหมดสามารถ off-set กันได้ เพราะระบบใหม่ เนื่องจากภาษีจะมีทั้งเครดิตและเดบิตที่สามารถ off-set กันได้เลย” นายอภิศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ปี 2561 หัวข้อ “สรรพากรในยุคข้อมูลใหม่ ประชาชนได้อะไร” ว่า การดำเนินนโยบายด้านภาษีของกรมสรรพากรในระยะข้างหน้า จะนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างตรงจุด ตรงเป้าหมาย โดยจะวิเคราะห์ถึงขั้นว่าผู้เสียภาษีมีปัญหาติดขัดอะไร เพื่อจะได้ให้บริการได้อย่างถูกต้อง

“เราทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยให้ยึดผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง แทนที่จะคิดจากกรม เริ่มตั้งแต่การจดทะเบียน อย่างบุคคลธรรมดา เราก็เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครองแล้ว ฝั่งนิติบุคคล เราก็เชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ เราก็เริ่มดึงข้อมูลต่าง ๆ อย่างเรื่องค่าลดหย่อนประกันสุขภาพ ข้อมูล กบข.เป็นต้น ต่อไปเราจะทำเป็นข้อมูลยื่นแบบเบื้องต้น (prefil) ให้ และให้ผู้เสียภาษีแค่กดยืนยันเท่านั้น” นายเอกนิติกล่าว

นอกจากนี้ ในด้านการตรวจสอบภาษี กรมสรรพากรได้นำระบบการประเมินความเสี่ยง (RBA) มาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูล กระทบยอดภาษีแต่ละประเภทเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น และจะช่วยแยกคนดีกับคนไม่ดีออกจากกันได้ ทั้งนี้ กรมจะเน้นตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ส่วนคนที่ดีจะคืนภาษีให้เร็วขึ้น โดยคืนแบบอัตโนมัติ เพื่อตัดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ออกไปอธิบดีกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่า การเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญมากก็คือ จะต้องมีการกำกับดูแลการใช้ข้อมูลไม่ให้ข้อมูลของผู้เสียภาษีรั่วไหลด้วย ซึ่งในส่วนของกรมสรรพากรไม่มีปัญหา เพราะปัจจุบันมีกฎหมายดูแลและมีบทลงโทษผู้กระทำผิดรุนแรงอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำเรื่องการคุ้มครองข้อมูลผู้เสียภาษีดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)