แบงก์กสิกร เดินเกมรุกอาเซียน นำร่องดิจิทัลแบงกิ้งใน สปป.ลาว

4 ปีแล้วที่ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เข้ามาให้บริการทางการเงินใน สปป.ลาว โดยเป็น “ธนาคารท้องถิ่น” ที่มีให้บริการ 2 สาขาแล้ว ได้แก่ สาขาโพนสีนวน และสาขาสำนักงานใหญ่ล้านช้าง และสามารถทำผลกำไรได้ทุกปี ภายใต้ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1,200 ล้านบาท

เคแบงก์นำโดย นายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบูรณ์ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย สปป. ลาว และนายภคพงษ์ พุมอาภรณ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย (สปป.ลาว) ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจการเคแบงก์ สาขาล้านช้าง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว พร้อมพูดคุยการยกระดับบริการดิจิทัลแบงกิ้งใน สปป.ลาว ให้ฟังกัน

โดยนายพัฒนพงศ์กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทยที่จะขยายและต่อยอดธุรกิจในภูมิภาค AEC+3 ขณะที่จีนกำลังดำเนินการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม สปป.ลาวและประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็จะเปิดประตูการค้า และทำให้ สปป.ลาวเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะเชื่อมการให้บริการตามยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายการให้บริการภูมิภาคนี้ของธนาคาร ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาวปีละ 7% ซึ่งจะหนุนการให้บริการทางการเงินของธนาคารกสิกรไทยใน สปป.ลาวเติบโตมาก หลังจากเปิดให้บริการมาแล้ว 4 ปี โดยผลดำเนินงานทุกปีมีกำไรมากกว่า 10 ล้านบาท รายได้อยู่ที่ราว 100 ล้านบาท โดยรายได้หลัก ๆ มาจาก 3 ธุรกิจ คือ ด้านเงินฝาก สินเชื่อ และการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์)

และเร็ว ๆ นี้กำลังจะขยายบริการช่องทางดิจิทัลใน สปป.ลาว โดยขณะนี้กำลังขออนุญาตแบงก์ชาติลาวเปิดให้บริการ “QR code” สำหรับเป็นช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการแก่ร้านค้ากับผู้บริโภคใน สปป.ลาว ซึ่งจะใช้ “น้องใหม่นำโชค” เป็นสัญลักษณ์คิวอาร์โค้ด และในอนาคตมีแผนจะพัฒนาบริการดิจิทัลเพย์เมนต์, โมบายแบงกิ้ง และ e-Money solution

“เราพยายามเข้ามาเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่มี ซึ่งดูจากคนลาวเข้ามาทำธุรกรรมแบงกิ้งสัดส่วนต่ำ 26% ของคนทั้งประเทศ ขณะที่อัตราการใช้มือถือสูงมาก เราก็จะค่อย ๆ ซึมจากเรื่องนี้ (สแกนคิวอาร์โค้ด) ซึ่งจะทำให้เราบริการแก่คนท้องถิ่นได้เร็วกว่าปกติ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปิดบัญชีของเรา”

ทั้งนี้ ปัจจุบันคนลาวราว 6.8 ล้านคน จะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 91% หรือ 6.4 ล้านคน และมีการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์มือถือถึง 90% จึงเป็นโอกาสของโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ

นายพัฒนพงศ์กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบัน สปป.ลาว มีีธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (BCEL) ที่ให้บริการดิจิทัลแบงกิ้งอยู่รายเดียว ซึ่งเคแบงก์ สปป.ลาว จะเข้ามาให้บริการผ่านช่องทางไฟแนนเชียลเซอร์วิส จะทำให้เคแบงก์ สปป.ลาวสามารถเข้าถึงลูกค้าท้องถิ่นได้ง่ายสุด และเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคใน สปป.ลาว และสามารถรู้ถึงความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบโจทย์การให้บริการโปรดักต์ทางการเงินได้ดีในอนาคต ขณะที่การให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลแบงกิ้ง จะช่วยทำให้เคแบงก์ใน สปป.ลาว เติบโตได้สูงขึ้น นอกเหนือจากการให้บริการรูปแบบเดิมอย่างเงินฝาก-สินเชื่อ

“เราเป็นแบงก์ที่สามารถทำ ROE (ผลตอบแทนจากส่วนของทุน) ได้อยู่ระดับสูง 10% และตั้งเป้าหมายว่าในระยะข้างหน้าจะต้องสูงมากกว่านี้”

สำหรับผลดำเนินงานของเคแบงก์ใน สปป.ลาว นายพัฒนพงศ์กล่าวว่า มาจากการเติบโตของพอร์ตเรื่อย ๆ เนื่องจากธนาคารได้ให้การสนับสนุนแก่ลูกค้าไทยและคู่ค้าใน สปป.ลาว ซึ่งลูกค้าหลัก ๆ จะมี 2 กลุ่ม ลูกค้าบริษัทซึ่งจะมีใช้บริการบัญชีเงินฝากสำหรับธุรกิจ สินเชื่อธุรกิจ และบริการโอนเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ กับลูกค้าบุคคลที่มีแต่บัญชีออมทรัพย์ บัญชีกระแสรายวัน และ wisdom louge ส่วนกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการจะมีทั้งลูกค้าภาครัฐบาล สปป.ลาว, ลูกค้านักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจใน สปป.ลาว และลูกค้าท้องถิ่นรายย่อย

โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เคแบงก์ใน สปป.ลาวมีการเติบโตของด้านสินเชื่อเฉลี่ยปีละ 73% โดยล่าสุดช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ยอดสินเชื่ออยู่ที่ 1,700-1,800 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะแตะ 2,400 ล้านบาท ส่วนลูกค้าสินเชื่อช่วงแรก ๆ จะเป็นลูกค้าธุรกิจไทย ต่อมาก็ขยายไปคู่ค้าของลูกค้าไทย เพราะเราสามารถเห็นปริมาณการหมุนเวียนทางการเงินได้ และตอนนี้ก็มีให้บริการลูกค้าอื่น ๆ ซึ่งจะใช้เวลาในการติดตามดูข้อมูลมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันธนาคารยังไม่มีหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลเลย โดยลูกค้าสินเชื่อจะหลากหลาย ได้แก่ ภาครัฐของ สปป.ลาว สัดส่วน 33% ภาคเกษตร 19% ภาคก่อสร้าง 15% ภาคการพาณิชย์ 10% ภาคการขนส่ง 10% ภาคสินเชื่อเช่าซื้อราว 8% ภาคอาหารและเครื่องดื่ม 6% แต่หากดูกลุ่มลูกค้าที่ปล่อยกู้จะเป็นกลุ่มลูกค้าท้องถิ่น สปป.ลาวจะมีสัดส่วน 38% กลุ่มรัฐบาล สปป.ลาว 33% และลูกค้าคนไทยที่มาลงทุนใน สปป.ลาวก็ 29% จะเห็นว่าสัดส่วนใกล้ ๆ กัน ขณะที่หนี้เสียจะไม่มีเลย

“รัฐบาล สปป.ลาวได้เปิดกว้างให้ภาคเอกชนทั้งของลาวและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนสำคัญ ๆ หลายโครงการ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจลาวที่ขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้น ปีหน้าจึงตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท”

ด้านเงินฝากเติบโตราวปีละ 29% โดยล่าสุดพอร์ตเงินฝากอยู่ที่ 1,400-1,500 ล้านบาท สิ้นปีนี้จะทำได้ 1,800 ล้านบาท และปีหน้าไปถึง 2,000 ล้านบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะขึ้นอยู่สกุลเงิน หากเป็นสกุลบาท “เงินฝากระยะ 1 ปี” จะได้อัตราดอกเบี้ย 3-5% หากฝากประจำ 3 ปีก็ดอกเบี้ยราว 8% ทั้งนี้ ลูกค้าเงินฝากมากกว่า 50% จะเป็นคน สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นกลุ่มวิสดอม

ส่วนเทรดไฟแนนซ์โตได้ปีละ 17% สิ้นปีนี้คาดว่าพอร์ตจะอยู่ที่ราว 13,000 ล้านบาท และเป้าหมายปีหน้าอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการทำดีล business matching ใน สปป.ลาว ซึ่งอุตสาหกรรมหลัก ๆ มีกลุ่มพลังงานซึ่งดีลที่เห็นก็เขื่อนไทรน้อย, ดีล ช.การช่างที่เขามาสร้าง 3-4 เขื่อน กลุ่มเหมืองแร่ และบริการท่องเที่ยว

นายภคพงษ์กล่าวถึงการแข่งขันของธุรกิจธนาคารท้องถิ่นว่า ที่นี่มีราว 40 แบงก์ (ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น 23 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 19 แห่ง) จะมีไซซ์ที่หลากหลาย ลูกค้าจะเป็นคนลาวเป็นหลัก มีคนเกาหลี มาเลเซียบ้าง ขณะที่แบงก์ของไทยจะมี 7 แห่ง โดยเคแบงก์เป็นแบงก์สุดท้ายที่เข้ามา โดยช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาซึ่งการให้บริการก็ไม่ได้มีมากเป็นด้านเงินฝาก สินเชื่อ การให้อัตราดอกเบี้ยจะอิงตามตลาดใน สปป.ลาว

“ส่วนการแข่งกันรุนแรงแค่ไหนนั้น แต่ละแบงก์ก็จะมีกลุ่มลูกค้าของตนเอง จึงไม่เชิงว่าจะแย่งกัน จะอยู่ที่การดูแลลูกค้าให้บริการที่ดี ทำให้ลูกค้าไว้ใจที่จะใช้บริการของเราเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า” นายภคพงษ์กล่าว

สำหรับการขยายตัวในอาเซียนของเคแบงก์ นายพัฒนพงศ์กล่าวว่า ตอนนี้เตรียมจะไปเปิดที่เวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตกับแบงก์ชาติเวียดนาม น่าจะเห็นได้ในปีหน้า ส่วนจีน กัมพูชา ก็ไปแล้ว และมีการลงทุนใน ธนาคารแมสเปี้ยนในอินโดนีเซีย รวมถึงสำนักงานผู้แทนในเมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น โดยปัจจุบันเคแบงก์มีรายได้จากต่างประเทศสัดส่วนน้อยไม่ถึง 10% แต่ก็ตั้งเป้าหมายในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 30%

“เราจะพยายามนำแพลตฟอร์ม แบงกิ้งไปใช้กับสาขาต่างประเทศของเคแบงก์ ซึ่งเริ่มที่ สปป.ลาว ก่อน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา และมีความปลอดภัยสูงแก่ผู้ใช้ด้วย

เส้นทางการเติบโตผ่านเออีซี+3 จึงเป็นอีกความท้าทายของเคแบงก์ที่ปักธงเป็นดิจิทัลแบงกิ้งในอาเซียน