“ออมสิน” โชว์ฐานะแกร่ง ซัพพอร์ตสวัสดิการแห่งรัฐ-เอสเอ็มอี

ธนาคารออมสินถือว่าเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จึงเป็น “เครื่องมือ” ที่ทรงพลังของทุกรัฐบาลในการจัดทำนโยบายเพื่อดูแลประชาชน โดยขณะนี้ใกล้เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่กำลังจะเข้าสู่วาระดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 ในต้นปี 2562 มาฉายภาพการสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายรัฐในช่วงที่ผ่านมาไปจนถึงปีหน้าให้เห็นภาพกัน

ซัพพอร์ตรัฐ 20 กว่าโปรเจ็กต์

ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ในช่วงที่ตนเข้ามามีการทำโครงการที่ซัพพอร์ตนโยบายรัฐแยก PSA (บัญชีธุรกรรมตามนโยบายรัฐ) ประมาณกว่า 20 โครงการ ซึ่งธนาคารต้องได้รับการชดเชย พูดง่าย ๆ ก็คือขาดทุน ซึ่งรัฐบาลอาจจะชดเชยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ชดเชยดอกเบี้ย ชดเชย NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) หรือชดเชยบวกกลับมาเป็นผลงานให้ธนาคาร โดยแต่ละปีเราต้องขอให้รัฐบาลชดเชย ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ถือว่าไม่ได้มากมายอะไร เพราะหักจากผลประกอบการ และออมสินก็ทำกำไรได้ดี ขึ้นจากระดับกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นกว่า 30,000 ล้านบาทจนถึงเดือน ต.ค. มีกำไรประมาณกว่า 28,000 ล้านบาท ซึ่งปกติจะมีประมาณเดือนละ 3,000 ล้านบาท ถ้าไม่มีรายการพิเศษเข้ามา ช่วงที่เหลือ 2 เดือน ก็จะบวกไปอีกประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

นายชาติชายกล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติให้จัดซื้อระบบ เพื่อรองรับการทำมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ที่จะบังคับใช้ในปี 2563 ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่กว่า 14% จากช่วงที่ผมเข้ามา BIS ratio อยู่แค่ 10% ต้น ๆ ดังนั้นแม้ว่าจะใช้ IFRS9 เราก็ยังมีทุนสำรองเพียงพอ ส่วนของระบบบัญชีอื่น ๆ เรามีการเตรียมพร้อมไปหมดแล้ว

เตรียมแพ็กเกจของขวัญปีใหม่

สำหรับในช่วงปลายปีนี้ที่รัฐบาลมีการจัดทำแพ็กเกจช่วยผู้มีรายได้น้อยออกมานั้น สำหรับในส่วนของออมสิน เราดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ผ่านโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งออมสินดูแลกว่า 5 ล้านคน ซึ่งเราต้องติดตามและพัฒนาศักยภาพคนกลุ่มนี้ โดยที่ผ่านมาได้ฝึกอบรมไปประมาณ 60,000 คน ใช้ศักยภาพและทรัพยากรของธนาคารออมสิน และยังมีการฝึกอบรมของเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันอีก 3-4 แสนคน

“ส่วนที่ถามกันว่าธนาคารจะมีมาตรการด้วยไหม ตรงนี้ก็คงมีพวกที่เป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่ได้ตกผลึกว่าจะให้อะไร อย่างปีที่แล้ว ธนาคารออมสินมีการคืนดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท ที่เป็นลูกหนี้ดี ใช้เงินไปกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งมาตรการก็คงมีทั้งแนวทางเดิม และแนวทางใหม่ก็กำลังคิดอยู่ ยังบอกอะไรไม่ได้ ต้องมีมติ ครม.ออกมาก่อน”

รวมถึงกลุ่มมนุษย์เงินเดือนก็อยู่ในแผนรัฐบาลอยากทำให้ประชาชน อันนี้ก็ยังไม่ได้สรุป ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็อาจจะนำเสนอ อะไรที่รัฐบาลทำได้ รัฐบาลก็จะทำให้ประชาชน โดยตรงนี้ก็ต้องมีขั้นตอนเสนอ ครม.ต่อไป

คุมเข้มสินเชื่อบ้านไม่กระทบแบงก์

สำหรับมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯของธนาคารแห่งประเทศไทย นายชาติชายกล่าวว่า เกณฑ์ใหม่ที่ออกมาถือว่า ธปท.เข้าใจระบบอสังหาฯดี จึงผ่อนปรนให้บ้านหลังแรกอย่างมาก คือ ถ้าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ก็ใช้กฎเกณฑ์เดิมทั้งหมด แต่พอเป็นหลังที่ 2-3 ก็มีเกณฑ์ที่เข้มขึ้น คิดว่า ธปท.ออกเกณฑ์มาค่อนข้างดีมาก คือ 1.สามารถปรามไม่ให้อสังหาฯร้อนแรงจนเกินไป 2.ไม่ให้คนซื้อเพื่อเก็งกำไร และ 3.คนจะออมก่อนซื้อคือ สะสมเงินดาวน์ก่อน เพราะช่วงที่ผ่านมาพอกู้โดยไม่ต้องมีเงินดาวน์ ก็ทำให้ความผูกพันกับบ้านหลังนั้นน้อยลง จึงยอมเป็น NPL ได้ง่าย

นอกจากนี้ ผมอยากให้มองการซื้อบ้านหลังแรกเป็นการลงทุน มากกว่าซื้อบ้านเพื่อก่อหนี้ เป็นการสะสมเงินวิธีหนึ่ง เป็นการฝากเงิน พอครบ 10-20 ปี บ้านก็เป็นของเรา และราคาก็เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องการเก็งกำไรมองว่าจะอยู่ที่ตลาดคอนโดฯมากกว่า การซื้อบ้านแนวราบเพื่อเก็งกำไรไม่น่าจะมี ในมุมของแบงก์ เรื่องวงเงินกู้ ธปท.ให้นับรวมสินเชื่อ top-up ที่หลักประกันเดียวกัน ยกเว้นสินเชื่อเพื่อจ่ายเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้ ประกันวินาศภัย เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ ส่วนท็อปอัพอื่น ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ก็อาจจะมีผลกระทบข้างเคียงบ้าง แต่ทั้งหมดนี้ถามว่ากระทบแบงก์ไหม กระทบน้อย เพราะว่าการปล่อยกู้น้อย แบงก์ก็เสี่ยงน้อย

ต้นปี”62 สินเชื่ออสังหาฯโตเท่าตัว

ผู้อำนวยการแบงก์ออมสินกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่ออสังหาฯใหม่ของ ธปท.จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2562 คาดว่าจะทำให้เห็นปรากฏการณ์เร่งกู้ เร่งโอน ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ปีหน้า ก่อนเกณฑ์ใหม่จะเริ่ม ดังนั้น คอนโดฯที่ยังสร้างไม่เสร็จ ก็คงต้องไปเร่งสร้าง เร่งโอนยอดสินเชื่อช่วงนั้นคงจะเพิ่มขึ้น 1-2 เท่าต่อเดือน ซึ่งผมคำนวณยอดโอนในตลาดรวมเฉลี่ยปกติมีประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ก็อาจจะเพิ่มดับเบิลขึ้นมา แต่ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก เพราะเป็นสต๊อกเก่า และอาจจะดีสำหรับธุรกิจอสังหาฯ เพราะช่วยเคลียร์พอร์ต

“การทำตลาดสินเชื่ออสังหาฯของออมสินก็มีโปรโมชั่นแรงอยู่ตลอด อย่างในงานมหกรรมการเงินต่าง ๆ ก็มีการให้ดอกเบี้ยพิเศษ ที่เพิ่งจบไปก็งานมันนี่ เอ็กซ์โป ที่ให้ดอกเบี้ย 0% 6 เดือนในส่วนสินเชื่อบ้าน และดอกเบี้ย 0% 2 ปี ของสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ (รีเวิร์สมอร์ตเกจ)” นายชาติชายกล่าวและว่าธนาคารออมสินมีพอร์ตสินเชื่ออสังหาฯอยู่ประมาณ 340,000 ล้านบาท เทียบกับพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 2 ล้านล้านบาท ก็สัดส่วนประมาณ 15-16% ซึ่งปีนี้เติบโตไม่มาก เพราะพอร์ตเราใหญ่ ซึ่งจะมีรีเพย์ (ชำระคืน) เยอะด้วย ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าไปก็เป็นการรักษาพอร์ต ขยายตัวจริง ๆ ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี

ปีหน้ารุกหนักสินเชื่อเอสเอ็มอี

สำหรับเป้าสินเชื่อปีหน้าของออมสิน ทุกปีจะเติบโตประมาณ 1-1.5 เท่าของ GDP ส่วนเงินฝากจะโตประมาณ 1 เท่าของ GDP เป็นเกณฑ์เดียวกับแบงก์พาณิชย์ เพราะถ้าเราโตมากกว่านี้ก็อาจมองว่า เราแอ็กเกรสซีฟ โดยปีหน้าจะมุ่งปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ เพราะเราอยากผลักดันให้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ สู้กับคู่แข่งได้ ซึ่งปีนี้ธนาคารได้เตรียมความพร้อมในการขยายศูนย์สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น จากเดิมมี 18 ศูนย์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 82 ศูนย์ โดยเป็นการเพิ่มศักยภาพของสาขาแบงก์ ที่เดิมมีอำนาจปล่อยกู้ได้แค่ 20 ล้าน พัฒนายกระดับให้เป็นศูนย์ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้ระดับ 100 ล้านบาท ซึ่งปกติเราปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี แต่ปีหน้าตั้งเป้าจะปล่อยเพิ่มขึ้น 4 เท่า

นายชาติชายกล่าวว่า เรื่องหนี้เสียวันนี้ เอ็นพีแอลยังไม่เพิ่มจากพอร์ตสินเชื่อใหม่ ๆ ที่เข้ามา ซึ่งปัจจุบันพอร์ตเอสเอ็มอีรวมอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ในช่วง 4 ปีที่ผมเข้ามา มีสินเชื่อเป็นหนี้เสียไปแค่ 1-2 รายเท่านั้น ปัจจุบันเอ็นพีแอลรวมของแบงก์ออมสินอยู่ที่ 2.3% ต่ำสุดในตลาด

ขณะที่ภาพรวมตลาดเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3% หลังจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เอ็นพีแอลของออมสินก็ทยอยลดลง เพราะมีการเร่งแก้ไขหนี้ ถึงสิ้นปีตั้งเป้าว่าจะลดเอ็นพีแอลให้ต่ำกว่า 2.3%