วุฒิชัย เดินเกมฟื้น “ไอแบงก์” แหล่งเงินมุสลิม ชูโมบายแบงก์ ปั๊มกำไร

หลังธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตั้งแต่ 4 ปีก่อน เนื่องจากฐานะเงินกองทุนที่ติดลบอย่างหนัก ผลพวงมาจากหนี้เสีย (NPF) พุ่งสูงถึงระดับ 50% ซึ่งทาง คนร.ได้เห็นชอบให้แยกหนี้เสียส่วนที่ไม่ใช่มุสลิมกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท ออกไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) เป็นผู้บริหารหนี้เสียก้อนนี้

รวมทั้งยังไฟเขียวให้เพิ่มทุนไอแบงก์อีก 18,100 ล้านบาท ซึ่งต้องแก้กฎหมายเปิดทางให้กระทรวงการคลังเข้าถือหุ้นเกินกว่า 49% เป็นการชั่วคราว เพื่อทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ไม่ติดลบ อันจะทำให้การสรรหาพันธมิตรร่วมทุนทำได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันการเพิ่มทุนดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเปิดตัว “วุฒิชัย สุระรัตน์ชัย” ผู้จัดการไอแบงก์คนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้ เขาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนชาต และในอดีตยังเคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย และเคยร่วมงานกับขุนคลังคนปัจจุบันมาก่อน

“วุฒิชัย” กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้รับการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว ทำให้ฐานะการเงินดีขึ้นมาก จากที่เงินกองทุนติดลบกว่า 20,000 ล้านบาท ก็เหลือติดลบกว่า 1,000 ล้านบาท ผนวกกับการปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ปี 2561 นี้ มีกำไรสุทธิได้ หลังขาดทุนติดต่อกันมา 4-5 ปี ซึ่งถึงสิ้นปีนี้ตั้งเป้ามีกำไรสุทธิ 600 ล้านบาท จากการเติบโตสินเชื่อราว 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งพลิกจากที่ขาดทุนในปี 2560 กว่า 2,000 ล้านบาท และปี 2562 วางเป้าขยายสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท และเป้ากำไรสุทธิ 1,088 ล้านบาท หรือโต 80%

“ปีหน้าเราจะพยายามทำให้ BIS กลับมาเป็นบวก โดยการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เรายึดเจตจำนงของการจัดตั้งธนาคารอิสลามฯขึ้นมา ซึ่งจะมุ่งเน้นเป็นสถาบันการเงินหลักของพี่น้องชาวมุสลิม และจะเป็นแหล่งเงินหลักของพี่น้องชาวมุสลิมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นธนาคารทางเลือกสำหรับลูกค้าทั่วไปด้วย นอกจากนี้ เราจะเป็นธนาคารคุณธรรม โปร่งใส ปราศจากเรื่องการทุจริต”

สำหรับแนวทางธุรกิจ จะมุ่งเน้นกลุ่มชาวมุสลิม โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม เช่น ธุรกิจอาหารฮาลาล ธุรกิจก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐ ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจเช่ารถยนต์ และธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น และเนื่องจากหลังได้รับเงินเพิ่มทุนทำให้สามารถกลับมาทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ในปี 2562 ไอแบงก์จึงตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต “ก้าวกระโดด” คือ เติบโต 20-25% จากสินเชื่อคงค้างที่สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้ามุสลิมรายย่อยราว 30%

ขณะที่หนี้ NPF ตั้งเป้าปีนี้ลดให้เหลือต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 9,100 ล้านบาท หรือ 19-20% ของสินเชื่อรวม ลดจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่กว่า 11,000 ล้านบาท (มีรายใหญ่ตกชั้นเพิ่มซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะโอนให้ IAM) ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปี จะแก้ NPF ที่มีอยู่เดิมให้ได้ โดยสัดส่วนลดเหลือระดับ 5% จากการขยายสินเชื่อ และจากกระบวนการแก้ไข NPF ของทางแบงก์

“ในปีนี้ ผลดำเนินงานเกี่ยวกับลูกค้ารายย่อยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ อัตราเกิด NPF จากสินเชื่อปล่อยใหม่ก็ไม่สูง คือ ต่ำกว่า 1% และเรายังคงยึดธุรกิจที่ส่วนใหญ่เน้นลูกค้าองค์กร โดยเข้าไปเป็นพันธมิตรในการหักเงินเดือนชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก”

นอกจากนี้ ขณะนี้แบงก์ได้ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ให้มีประสิทธิภาพในการคัดกรองลูกค้าที่ดีเข้าพอร์ตมากขึ้น รวมถึงกระบวนการหลังอนุมัติสินเชื่อไปแล้วให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการดำเนินงาน ซึ่งจะทำเรื่องเหล่านี้ให้สมบูรณ์ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงคุณภาพสาขาที่มีอยู่ 102 สาขาให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยไม่ได้มีแผนจะลดสาขาลงอีก จากก่อนหน้านี้ลดไปแล้ว

“ที่สำคัญเราจะนำระบบไอทีมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น เพื่อตอบสนองลูกค้าได้ดีขึ้น โดยจะปรับปรุงในหลาย ๆ ด้าน ปีหน้าก็อยากจะนำระบบโมบายแบงกิ้งมาใช้ ซึ่งการที่ช้ากว่าคนอื่น เราก็สามารถเลือก
แพลตฟอร์มที่เหมาะสมในต้นทุนที่ถูกลงได้”

ส่วนการหาพันธมิตรร่วมทุนนั้น “วุฒิชัย” บอกว่า หลังจากได้ชะลอการหาพันธมิตร เนื่องจากผลดำเนินงานและฐานะแบงก์ในปี 2560 ที่ยังไม่ดี อย่างไรก็ดี ในจังหวะที่ธนาคารกลับมามีผลดำเนินงานดีขึ้น และมีฐานะการเงินดีขึ้น ก็อาจจะมีการกลับมาพิจารณาหาพันธมิตรอีกครั้ง แต่เรื่องนี้ต้องขึ้นกับนโยบายของทางกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ผู้จัดการไอแบงก์แสดงความมั่นใจว่า จากประสบการณ์ทำงานในแวดวงธุรกิจสถาบันการเงินมากว่า 30 ปี จะช่วยสนับสนุน และทำให้ไอแบงก์เดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้

ส่วนจะทำได้ตามเป้าหมายแค่ไหน และจะได้ออกจากแผนฟื้นฟูในเร็ว ๆ นี้หรือไม่นั้น ต้องติดตามต่อไป