กอช. จับมือ ก.มหาดไทย ดันโครงการส่งเสริมการออม ระดับพื้นที่ หวังเพิ่มสมาชิก กอช.มากขึ้น

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการออมของสมาชิกและเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ โดยครั้งนี้ได้ร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อเพิ่มสมาชิกกลุ่มเป้าหมายในระดับภูมิภาค โดยใช้กลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน จัดทำ “โครงการส่งเสริมวินัยการออม กับ กอช. ในระดับพื้นที่” ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนการออมแห่งชาติในระดับพื้นที่ เพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย

“สำหรับแนวทางของโครงการนี้ ได้ให้กอช.ศึกษาวิธีการนำเงินส่งสะสมให้เป็นระบบและง่ายขึ้น ชี้ให้เห็นประโยชน์ของ กอช. ว่าคืออะไร นอกจากนี้ให้สื่อสารลงไปในระดับพื้นที่ โดยมีกระทรวงมหาดไทยที่สนับสนุนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกอช. มากขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายผู้เข้ามาเป็นสมาชิก จำนวน 700,000 ราย จากปัจจุบันที่มีสมาชิก กอช. จำนวน 600,000 ราย (ณ สิ้นเดือน พ.ย. 61)โดยปี 2562 ตั้งเป้าหมายเข้ามาเป็นสมาชิก จำนวน 2 ล้านราย เชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้” นายประสงค์ กล่าว

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับการประชุมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ตามนโยบายและแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยและ กอช.ได้ร่วมกันวางทิศทางและกรอบการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายหมายของการส่งเสริมวินัยการออม ซึ่งเป็นแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 ด้านของการปฏิรูปประเทศที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อสร้างความมั่นคงของผู้สูงวัยให้มีรายได้ที่พอเพียงเมื่อถึงวัยเกษียณ ซึ่งไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กอช.และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อส่งเสริมวินัยการออม และสนับสนุนมให้มีการสมัครสมาชิก กอช. ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ดีทั้งสองหน่วยงานที่ร่วมกันผลักดันให้กลุ่มประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการออมของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนเงินสมทบตามช่วงอายุให้มีสวัสดิการและเงินบำนาญไว้ใช้ดำรงชีพในยามเกษียณ ตลอดจนสัมฤทธิ์ผลได้ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม และเป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมกำหนดไว้ภายใต้ประเด็นการปฏิรูปการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งเป็นประเด็นหลักสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพด้านการจัดสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ที่จะนำไปสูประชาชนอย่างทั่วถึง