ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า หลังจีนกับสหรัฐยุติสงครามการค้าชั่วคราว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/12) ที่ระดับ 32.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/11) ที่ระดับ 32.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสีจิ้น ผิงของจีน ที่ต่างเข้าร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา คุยกันระหว่างรับประทานอาหารเย็นเมื่อวันเสาร์ (1/12) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เลื่อนการขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากอัตราปัจจุบัน 10% เป็น 25% ออกไปเป็นเวลา 90 วัน จากกำหนดเวลาเดิมคือวันที่ 1 ม.ค. 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจากัน นอกจากนี้แล้วจีนยังได้รับปากที่จะสั่งซื้อสินค้าเพิ่มจากสหรัฐ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตร พลังงาน สินค้าอุตสาหกรรม และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้แล้วผู้นำของสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้า USMCA อย่างเป็นทางการแล้ว ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจีน 20 (1/12) โดยรัฐบาลแต่ละประเทศยังต้องนำข้อตกลง USMCA ไปผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ซึ่งคาดว่าทางด้านแคนาดา และเม็กซิโกจะสามารถผ่านความเห็นชอบไปได้โดยง่าย ขณะที่ผู้แทนทางการค้าของสหรัฐกล่าวว่า ทางรัฐบาลจะทำงานร่วมกับสภาครองเกรสในทุกคณะที่เกี่ยวข้องเพื่อลดข้อกังวลของ ส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มคนชั้นกลางและคนทำงาน รวมถึงจะต้องมีการระบุถึงการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในข้อตกลงที่รัฐบาลได้ลงนาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.75-32.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (3/12) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1339/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/11) ที่ระดับ 1.1368/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.2% ในเดือนตุลาคม ในขณะที่ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดพลังงานและอาหาร และเป็นมาตราวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความสำคัญ ชะลอตัวสู่ระดับ 1.1% เมื่อเทียบรายปี ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 1.2% ในเดือนตุลาคม โดย ECB คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีค่าเฉลี่ย 1.7% จนถึงปี 2563 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1337-1.3770 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1362/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (3/12) เปิดตลาดที่ระดับ 113.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/11) ที่ระดับ 113.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (3/12) ว่า การลงทุนของบริษัทเอกชนนอกภาคการเงินของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ปรับตัวขึ้น 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ระดับ 11.28 ล้านล้านเยน ซึ่งปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.39-113.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.85/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ โดย ISM (3/12) แถลงการณ์ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐ จาก ADP (5/12) การประชุมกลุ่ม OPEC (6/12) อัตราค่าจ้างแรงงานของสหรัฐ (7/12) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (7/12) อัตราการว่างงานของสหรัฐ (7/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -4.7/4.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.5/-3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรืสแกน QR Code