ดีเดย์ กม.สกัดโอนกำไรธุรกิจ เริ่มงบปี’62 ตีกรอบ บ.ในเครือโปร่งใส

อธิบดีสรรพากรเผยกฎหมายป้องกันถ่ายโอนกำไรระหว่างบริษัทในเครือมีผลแล้ว เริ่มบังคับใช้กับรอบบัญชีปี’62 ตีกรอบบริษัทมีรายได้เกิน 200 ล้านบาทขึ้นไป ต้องส่งข้อมูลธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือ พร้อมยื่นแบบภาษีในเดือน พ.ค. 63 ชี้ฝ่าฝืนเจอโทษปรับ 2 แสนบาท ส่วนร่างกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์เข้า สนช. วาระ 2-3 เดือน ธ.ค.นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561 หรือมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (transfer pricing) ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา

“กฎหมาย transfer pricing จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษีทั้งในและต่างประเทศ แก้ปัญหาเรื่องกัดกร่อนฐานภาษีต่าง ๆ การถ่ายโอนกำไรกันระหว่างบริษัทในเครือ ซึ่งประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว” นายเอกนิติกล่าว

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่าจะเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ในเดือน ธ.ค.นี้

นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 29-30 พ.ย. กรมสรรพากรได้จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วราชอาณาจักร โดยเป็นการเปิดตัวยุทธศาสตร์ D2RIVE เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ทันสมัย รวดเร็ว และเป็นธรรม ด้วยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ของผู้เสียภาษีผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางกรมสรรพากรมั่นใจว่า จะทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2562 นี้ ทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด ในเดือน ต.ค. เก็บภาษีได้ 1.23 แสนล้านบาท เกินกว่าประมาณการ 5%

นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฎหมาย transfer pricing มีผลบังคับใช้แล้ว แต่จะเริ่มมีผลต่อบริษัทที่ต้องยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่กรมสรรพากรในรอบปีบัญชี 2562 (1 ม.ค.-31 ธ.ค. 62) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาได้เตรียมตัว โดยจะต้องยื่นเอกสารพร้อมแบบแสดงรายการชำระภาษีในเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งกฎหมายกำหนดเฉพาะบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไปที่เข้าข่าย

“กฎหมายกำหนดบริษัทที่ต้องยื่น ต้องมีรายได้ 200 ล้านบาทขึ้นไป เพราะกรมสรรพากรไม่ต้องการให้มีผลกระทบในวงกว้าง ไม่อยากให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างไรก็ดี ในส่วนของแบบที่จะกำหนดว่า บริษัทต้องยื่นเอกสารอะไรบ้างนั้น ทางกรมจะมีการออกกฎหมายลำดับรองออกมารองรับอีกที” นายสาโรชกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในรายละเอียดกฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดลักษณะของบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันไว้ ที่ต้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในเครือให้แก่กรมสรรพากร คือ 1) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่า 50% ของทุนทั้งหมด 2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่า 50% ถือหุ้นเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่า 50% 3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่ง

โดยบทลงโทษกรณีบริษัทที่เข้าข่ายต้องรายงาน ไม่ยื่นรายงาน หรือยื่นเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ บริษัท PwC ประเทศไทย ระบุถึงผลสำรวจบริษัทที่จะเข้าข่ายต้องรายงานข้อมูลตามกฎหมาย transfer pricing ในประเทศไทย มีราว 20,000 บริษัท ที่ต้องรายงานธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างบริษัทในเครือต่อกรมสรรพากร