“สมคิด” บี้ ธพว.ปั้นเอสเอ็มอีค้าขายผ่านออนไลน์ให้ได้อย่างน้อย 6 แสนรายใน 1 ปี

“สมคิด” บี้ ธพว.ปั้นเอสเอ็มอีค้าขายผ่านออนไลน์ให้ได้อย่างน้อย 6 แสนรายใน 1 ปี ขณะที่ ธพว. เตรียม 2 โครงการเป็นของขวัญปีใหม่ วงเงิน 11,800 ล้านบาท ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ชูโครงการ “ประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็ก ล้มแล้วลุก” ปล่อยกู้เอสเอ็มอีเป็นเอ็นพีแอล-ไม่เช็กเครดิตบูโร

วันนี้ (6 ธ.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เพื่อประชุมร่วมกันถึงแนวทางยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

โดยนายสมคิด ได้สั่งการให้ ธพว. ตั้งเป้าหมายยกระดับเอสเอ็มอีให้เข้าสู่กระบวนการอีคอมเมิร์ซ หรือค้าขายออนไลน์ให้ได้อย่างน้อย 600,000 ราย ในปี 2562 นี้ ซึ่งหน้าที่ของ ธพว. จะไม่ใช่แค่ปล่อยสินเชื่อ แต่จะต้องเป็นผู้อัพเกรดผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ ทั้งนี้ ต้องเร่งดำเนินการ เพราะล่าสุด ตนได้เห็นข้อมูลว่า บริษัทขนส่งเอกชนรายหนึ่ง จากที่เคยรับส่งของ 7-8 หมื่นกล่องต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 ล้านกล่องต่อวันแล้ว ดังนั้น ธพว. จึงต้องช่วยเอสเอ็มอีในการสร้าง Business Model ใหม่ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลในการทำธุรกิจ

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมโครงการที่เป็นของขวัญปีใหม่ ในปี 2562 จำนวน 2 โครงการ เพื่อมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 1.โครงการประชารัฐเสริมแกร่งการค้าสู่ชุมชน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่จะเน้นช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการค้าปลีก บริการ และผลิตภัณฑ์เกษตร ให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 7 ปี ปลอดเงินต้นไม่เกิน 1 ปี กรณีผู้กู้เป็นบุคคล ปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ย 0.42% ต่อเดือน ส่วนนิติบุคคล ปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อเดือน โดยใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน

ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย รักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 30,000 คน มียอดขายเพิ่มขึ้น 40,000 ล้านบาท และช่วยลดต้นทุนเพิ่มกำไรไม่น้อยกว่า 15% เป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนในชุมชนได้ประมาณ 10 ล้านคน และมีเงินหมุนเวียนในระบบไม่น้อยกว่า 45,800 ล้านบาท

 

และ 2.โครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็ก ล้มแล้วลุก วงเงิน 1,800 ล้านบาท เน้นกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่ยังดำเนินธุรกิจ เอสเอ็มอีที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เอสเอ็มอีที่ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เอสเอ็มอีที่ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอ และ เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งจะยกเว้นการตรวจข้อมูลเครดิตบูโร กู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลากู้ 7 ปี ปลอดเงินต้นไม่เกิน 1 ปี ช่วงปลอดเงินต้นให้ชำระคืนไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย รักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 90,000 คน และมีเงินหมุนเวียนในระบบไม่น้อยกว่า 7,800 ล้านบาท


นายมงคล กล่าวด้วยว่า คาดว่าทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ภายในวันที่ 18 ธ.ค.นี้