ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าหลังนักลงทุนหวั่นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/12) ที่ระดับ 32.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (4/12) ที่ระดับ 32.70/72 บาท/ดอลาร์สหรัฐ โดยเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังได้รับแรงเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว หลังอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะเวลา 5 ปี ปิดตลาดในวันอังคาร (4/12) ที่ร้อยละ 2.798 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะเวลา 2 ปี ที่ร้อยละ 2.811 โดยการที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้นนั้น เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต (Beige Book) เมื่อวานนี้ (5/12) โดยระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐได้ขยายตัวในระดับพอประมาณหรือปานกลางระหว่างช่วงกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน และค่าจ้างรายชั่วโมงยังคงเติบโตในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในสหรัฐนั้นเริ่มขยายตัวช้าลงอีกทั้งผู้ประกอบการโดยรวมในสหรัฐได้พบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ผลิตในสหรัฐยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐ อย่างไรก็ตามนักลงทุนทั่วโลกยังจับตามองคำแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งถูกเลื่อนจากกำหนดการเดิมในคืนวันพุธ (5/12) มาเป็นคืนวันนี้ (6/12) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.80-32.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/12) ที่ระดับ 1.1349/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/12) ที่ระดับ 1.1403/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ นักลงทุนมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเมื่อวานนี้ (5/12) ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการบริการประจำเดือนพฤศจิกายนของสหภาพยุโรป อิตาลี และฝรั่งเศส นั้นอยู่ที่ 53.4, 50.3 และ 55.1 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 53.1, 49.2 และ 55.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการประจำเดือนพฤศจิกายนของเยอรมนี นั้นอยู่ที่ 53.3 เท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และยอดสั่งซื้อจองโรงงานในเยอรมนีประจำเดือนตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงร้อยละ 0.4 นอกจากนี้ยอดค้าปลีกประจำเดือนตุลาคมของสหภาพยุโรปออกมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1319-1.1353 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1340/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/12) ที่ระดับ 112.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/12) ที่ 112.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน
เคลื่อนไหวในกรอบแคบโดยอ่อนค่าสวนทางกับเงินดอลลาร์ หลังนักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.57-113.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.70/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ แถลงการณ์ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐ จาก ADP (5/12) การประชุมกลุ่ม OPEC (6/12) อัตราค่าจ้างแรงงานของสหรัฐ (7/12) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (7/12) อัตราการว่างงานของสหรัฐ (7/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดอนในประเทศอยู่ที่ -4.10/-3.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.79/-3.46 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ