จับคู่ จับใจ ธุรกิจไทยไปโลด

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ใกล้จะถึงปีใหม่กันอีกแล้วนะครับท่าน ในช่วงนี้หลาย ๆ ธุรกิจคงจะตื่นตัวกันอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เตรียมใช้จ่ายเพื่อการช็อปปิ้งสินค้าหรือบริการในช่วงเทศกาลที่กำลังจะมาถึงนี้ ทั้งคริสต์มาสและวันปีใหม่ แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างเดียว

ช่วงนี้เองก็จะมีการทำโปรโมชั่นประชันห้ำหั่นกันระหว่างธุรกิจอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น ลด แลก แจก แถม ผมเห็นแล้วก็รู้สึกเหนื่อยแทนครับ แต่ธุรกิจก็คงอยู่นิ่งไม่ได้ สมัยนี้ “นิ่ง” ก็เหมือน “ถอยหลัง” ครับ

การทำธุรกิจสมัยนี้ต้องคอยมองหาช่องทางใหม่ ๆ อยู่เสมอนะครับ บางคนเริ่มมองช่องทางขายของออนไลน์มาใช้เพื่อเพิ่มช่องทางขายสินค้าบริการ เปิดตลาดใหม่ในโลกที่ไร้พรมแดน เพิ่มโอกาสขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ซึ่งคงต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง

แต่สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยถนัดเรื่องนี้ ณ ตอนนี้ ผมอยากแนะนำอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้เช่นกัน แบบใช้ “ตัวช่วย”

“ตัวช่วย” ที่ว่านั่นคือ กิจกรรมที่เรียกว่า “การจับคู่เจรจาธุรกิจ” ที่องค์กรต่าง ๆ และหลายหน่วยงานได้จัดขึ้น ผมอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ลองมองหาและเข้าไปร่วมกิจกรรมดูนะครับ ถ้าสินค้าของคุณดี มีคุณภาพ รับรองว่างานนี้มีโอกาส “ไปโลด ไปไกล” ในต่างแดนได้ สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการในหลาย ๆ ตลาด อย่างเช่นในช่วงนี้ของทุกปี กรุงศรีเองก็ได้มีการจัดกิจกรรมที่มีชื่อว่า Krungsri-MUFG Business Matching Fair ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่าง “กรุงศรี” และ “MUFG” กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยนำผู้ประกอบการธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นและในแถบอาเซียนมาช็อปปิ้งสินค้าบริการจากผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อนำไปขายในประเทศของเขา ซึ่งต้องบอกว่าปีที่แล้วมีการเจรจาธุรกิจมากกว่า 400 คู่เลยทีเดียว ถือเป็นกิจกรรมที่ธนาคารได้จัดให้กับลูกค้าธุรกิจของธนาคาร และผมก็ได้เห็นความสำเร็จของ SMEs หลายรายจากงานนี้ครับ

สำหรับท่านที่ไม่ได้มีโอกาสได้มาร่วมกิจกรรม ผมอยากให้ลองเริ่มมองตลาด “ญี่ปุ่น” ดูบ้าง โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้จิปาถะ ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจมาแชร์ครับว่า ในหลายปีนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเตรียมการสำหรับ “งานโอลิมปิก” ที่จะจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นในปี 2020 นี้ เขากำลังมองหาสินค้าที่จะนำไปขายในช่วงดังกล่าว โดยเป็นสินค้าเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม หรือของใช้จิปาถะ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่จะมาช็อปปิ้งกินเที่ยวในช่วงเทศกาลกีฬาโอลิมปิกนั้น ซึ่งจะมีกำลังซื้อจากทั่วโลกเลยนะครับ

ที่น่าสนใจมันมีอยู่ว่า ญี่ปุ่นเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องระดับมาตรฐานของสินค้า เพื่อให้สามารถขายได้ในระดับราคาที่หาซื้อได้ง่าย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยว อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าของซื้อของขายในญี่ปุ่นโดยปกติราคาค่อนข้างสูงเอาการอยู่ นักท่องเที่ยวอาจกระเป๋าฉีกได้ ญี่ปุนเขามองครบครับ ก็เลยเตรียมการนำเข้าสั่งซื้อสินค้าอาหารและของใช้จากต่างประเทศที่มีราคาย่อมเยากว่า แต่คุณภาพพอรับได้มาขายให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มองว่าสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นมาตรฐานญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมมีราคาสูง

นี่คือโอกาสครับ โอกาสของ “สินค้าไทย” ที่จะขายให้ผู้คนจากทั่วโลกได้ชิมได้ใช้ และให้รู้ว่า “สินค้าของไทย” ไม่แพ้ชาติใดในโลกครับ