ค่าเงินแกว่งตัวในกรอบ หลังคลายความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 3-7 ธันวาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (3/12) ที่ระดับ 32.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/11) ที่ระดับ 32.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับตัวเคลื่อนไหวตามค่าเงินหยวนเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย
อื่น ๆ โดยประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้ค่าเงินเกิดการเคลื่อนไหวคือ การเจรจาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หลังการประชุมของผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา (1/12) โดยการเจรจาเป็นไปในเชิงบวก กล่าวคือ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เลื่อนการขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากอัตราปัจจุบัน 10% เป็น 25% ออกไปเป็น 90 วัน จากกำหนดเวลาเดิมคือวันที่ 1 ม.ค. 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจากัน นอกจากนี้แล้วจีนยังได้รับปากที่จะสั่งซื้อสินค้าเพิ่มจากสหรัฐในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตร พลังงาน สินค้าอุตสาหกรรม และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยจากการเจรจาเชิงบวกนี้เอง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ค่าเงินหยวนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชียปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยค่าเงินบาทปรับตัวสู่ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์ โดยปรับตัวแข็งค่าสู่ระดับ 32.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกอาจเกิดการถดถอยหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอายุคงเหลือ 2 ปี ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจเชิงลบอย่างหนึ่ง และในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนอาจทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากการรายงานข่าวว่า แคนาดาได้จับกุมตัวนางเหม็ง ว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามคำขอของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เนื่องจากคาดการณ์ว่าทางบริษัทอาจลักลอบขายสินค้าให้กับอิหร่านซึ่งถูกสหรัฐคว่ำบาตร โดยทางเอกอัครราชทูตจีนประจำแคนาดาได้ออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแคนาดา พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้บริหารระดับสูงโดยเร็ว

สำหรับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐเช่นกัน คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการประจำเดือนพฤศจิกายน โดยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 59.3 และ 60.7 จุดตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ยังมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนประจำเดือนพฤศจิกายน ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 179,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ดีนักลงทุนจับตามองการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ และอัตราการว่างงานของสหรัฐที่จะมีการรายงานในวันศุกร์นี้ (7/12) โดยคาดการณ์ว่าจำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานของสหรัฐ จะทรงตัวที่ระดับ 3.7% ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.64-32.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (7/12) ที่ระดับ 32.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (3/12) ที่ระดับ 1.1339/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/11) ที่ระดับ 1.1368/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ประเทศกลุ่มยุโรปได้มีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน เพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.2% ในเดือนตุลาคม ในขณะที่ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดพลังงานและอาหาร และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความสำคัญ ชะลอตัวสู่ระดับ 1.1% เมื่อเทียบรายปี ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 1.2% ในเดือนตุลาคม โดย ECB คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีค่าเฉลี่ย 1.7% จนถึงปี 2563 นอกจากนี้ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการบริการประจำเดือนพฤศจิกายนของสหภาพยุโรป อิตาลี และฝรั่งเศส นั้นอยู่ที่ 53.4, 50.3 และ 55.1 จุดสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 53.1, 49.2 และ 55.0 จุดตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการประจำเดือนพฤศจิกายนของเยอรมนี นั้นอยู่ที่ 53.3 จุดเท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และยอดสั่งซื้อของโรงงานในเยอรมนีประจำเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.4% นอกจากนี้ยอดค้าปลีกประจำเดือนตุลาคมของสหภาพยุโรปออกมาเพิ่มขึ้น 0.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% สำหรับค่าเงินยูโรตลาดจับตารอการเสนอร่างข้อตกลง Brexit ของนางเทเรซา เมย์ ต่อรัฐสภาอังกฤษ โดยจะมีลงคะแนนเสียงต่อร่างข้อตกลงนี้วันอังคารหน้า (11/12) ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการแสดงความคิดเห็นจากอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปว่า อังกฤษมีสิทธิที่จะดำเนินการถอนตัวออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป โดยฝ่ายเดียว ก่อนที่จะถึงการลงคะแนนเสียงครั้งสำคัญในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1309-1.1420 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/12) ที่ระดับ 1.1375/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (3/12) ที่ระดับ 113.57-59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/11) ที่ระดับ 113.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (3/12) ว่า การลงทุนของบริษัทเอกชนนอกภาคการเงินของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ปรับตัวขึ้น 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ระดับ 11.28 ล้านล้านเยน ซึ่งปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.21-113.85 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/12) ที่ระดับ 112.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ