แบงก์แย่งคนพันธุ์ “ดิจิทัล” กสิกร-SCB ชิงมือดีเข้าค่าย

การใช้คอมพิวเตอร์
แฟ้มภาพ
แบงก์แข่งเดือด ดูดคนพันธุ์ดิจิทัลเสริมทีม คนเก่งด้านบิ๊กดาต้า-เอไอ-การตลาดดิจิทัล ขาดตลาด เผย “กระทิง” เริ่มคุมทัพเคแบงก์ต้นปีหน้า ด้าน “ไทยพาณิชย์” ตั้งเป้าปีหน้ากวาดมือดีอีกหลายร้อยคน เปิดแผนเดินทางไปต่างประเทศ ต้อนทาเลนต์เข้าสังกัดยาวทั้งปี

กระแสเทคโนโลยีดิสรัปต์ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในแต่ละองค์กร นอกเหนือไปจากการที่ “ผู้นำองค์กร” เป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน คือ การดึงคนที่มีความรู้ความชำนาญด้านดิจิทัลเข้ามา จะเพื่อเสริมทีมงานเดิม หรือแยกตั้งแผนกต่าง ๆ แล้วแต่สไตล์ของแต่ละองค์กร ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้มากที่สุด หนีไม่พ้นธุรกิจธนาคาร ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารใหญ่หลายแห่งต่างประกาศขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่”ดิจิทัลแบงกิ้ง” กันถ้วนหน้า ตั้งแต่ใส่เงินลงทุนในกองทุนดิจิทัล, การร่วมทุนกับเทคสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ และหาคนเก่งด้านนี้มาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข่าวในธุรกิจการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายเรืองโรจน์ (กระทิง) พูนผล ผู้จัดการกองทุน 500 Tuktuk และผู้ก่อตั้ง Disrupt University ได้รับการทาบทามให้มานั่งในตำแหน่งประธาน บริษัท กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด หรือ KBTG แทนนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาและยื่นใบลาออก โดยจะมีผลในวันที่ 14 ธ.ค. 2561 นี้

สำหรับ นายเรืองโรจน์ ก่อนหน้านี้ได้นั่งเป็นที่ปรึกษา นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารกสิกรไทยและคาดว่าจะมารับตำแหน่งดังกล่าวในเดือน ม.ค. 2562

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้ทันกับพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ผลักดันให้ธนาคารต่าง ๆ ต้องเร่งปรับองค์กรในหลายด้าน แต่ละแห่งมีทั้งปรับโครงสร้างองค์กร และดึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทั้งเรื่องบิ๊กดาต้า, เอไอ และอื่น ๆ เข้ามาเสริมทีมอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีการตั้งทีมใหม่ เรียกว่า “SCB10X” (เอสซีบี เท็นเอ็กซ์) โดยดึงบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจากที่ต่าง ๆ เข้ามา เช่น ทีมจากซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา, นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม ExpresSo ของ ปตท., นายถิรนันท์ อรุณวัฒนกุล จากไมโครซอฟท์ เป็นต้น และคาดว่าจะมีผู้บริหารรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีก

“แบงก์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่อย่างกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงศรีฯ ตื่นตัวเรื่องดิจิทัลมาก อย่างที่เรารู้กันว่าบุคลากรด้านนี้ในบ้านเราขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เก่งเรื่องบิ๊กดาต้า, เอไอ หรือแม้แต่ด้านการตลาดดิจิทัล ก็ได้รับความสนใจจากตลาด พราะไม่ใช่แต่แบงก์เท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่หลายธุรกิจต้องปรับตัว ทำให้คนดิจิทัลในสาขาต่าง ๆ เป็นที่ต้องการตัวมาก”

ด้านความเคลื่อนไหวของธนาคารไทยพาณิชย์ล่าสุด นายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย digital banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารต่าง ๆ มีการแข่งขันกันหาคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาร่วมงานด้วย เพื่อสร้างทีมเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนการลาออกจากบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) ของนายสมคิด จิรานันตรัตน์ อาจส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในทีมมีการโยกย้ายไปตามนายสมคิดด้วย ซึ่งธนาคารก็จะต้องหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เข้ามาเสริม

ปัจจุบันทีมเทคโนโลยีของธนาคารไทยพาณิชย์มีราว 300 คน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ปีหน้ายังตั้งเป้าหาเด็กรุ่นใหม่มาร่วมงานอีกหลายร้อยคน ส่วนการเดินทางไปหาทาเลนต์ในต่างประเทศมาร่วมงาน ยังคงทำต่อเนื่องปีละหลายครั้ง

นายธนาเสริมว่า ภาพรวมของกลุ่มคนไอทีรุ่นใหม่มีการโยกย้ายบ่อย เนื่องจากมีการชักชวนคนรุ่นใหม่ของบริษัทไปร่วมงานจากบริษัทอื่น โดยเสนอผลตอบแทนที่ดีกว่าให้ รวมทั้งยังมีความต้องการคนไอทีในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากธนาคาร เช่น บริษัทเครือข่ายมือถือ และผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีจุดแข็งที่แพลตฟอร์มที่ให้บริการเกี่ยวข้องกับลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานได้เห็นภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม และเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างได้

ด้าน นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief financial officer และ chief strategy officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2562-2564) ธนาคารมุ่งเน้นการต่อยอดจากโครงการ SCB Transformation และยุทธศาสตร์ตีลังกา เพื่อนำขีดความสามารถใหม่ด้านดิจิทัลและด้านข้อมูลมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนสำหรับอนาคต โดยมีแนวทางการดำเนินงานใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคาร และการลงทุนสำหรับอนาคต โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

สำหรับการเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคาร (core business) จะมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา โดยนำข้อมูลลูกค้าที่มีมาเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมทั้งตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านรายในปี 2562 การยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้อยู่บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้นนี้ คาดว่าในปีหน้าปริมาณธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 55% ในขณะเดียวกันธนาคารจะเน้นการเติบโตธุรกิจผ่านขีดความสามารถใหม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางการสร้างรายได้ในมิติใหม่และลดต้นทุนธนาคารในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเติบโตจากธุรกิจสินเชื่อ ที่ธนาคารตั้งเป้าเติบโตที่ 5-7% ในปี 2562

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!