ธอส.ลุ้นกฎหมายผ่าน สนช.ฉลุย เปิดทางทำสินเชื่อสูงวัย-ออกสลากขาย

ธอส.ลุ้นแก้กฎหมายผ่าน สนช.ฉลุย 14 ธ.ค.นี้ หวังเปิดทางทำธุรกิจ “รีเวิร์สมอร์ตเกจ” รับสังคมสูงอายุ ขณะที่ล่าสุด พ.ร.ฎ.เพิ่มขอบเขตทำธุรกิจของ ธอส.มีผลแล้ว 23 พ.ย. 61 เปิดให้แบงก์ตั้งบริษัทลูก/ร่วมทุนทำกิจการ “ประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย-โบรกเกอร์ประกัน-ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน-บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์”

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่เป็นการแก้ไขกฎหมาย ธอส. เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจ อาทิ บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage : RM) การออกสลากออมทรัพย์ การให้อำนาจการออกและขายพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารอื่น ๆ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันด้วยจะเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ซึ่งหลังจากผ่านวาระแรกแล้ว ก็คาดว่ากฎหมายน่าจะผ่านออกมาบังคับใช้ได้ต่อไป

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2561 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมาแล้ว โดย พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว เป็นการเปิดทางให้ ธอส.สามารถทำธุรกิจได้เพิ่มเติม ได้แก่ 1) การรับประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินโดยจัดตั้งบริษัทหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่น (Mortgage Insurance : MI)

2) การรับประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินโดยจัดตั้งบริษัทหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่น 3) การประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิตที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด 4) การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และ 5) กิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์ในกิจการต่าง ๆ ของธนาคาร

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ไขกฎหมาย ธอส.จะทำให้ธนาคารสามารถรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการตลาด และสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันได้ โดยการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จะช่วยรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางด้านอายุประชากรของประเทศ ส่วนการออกสลากออมทรัพย์ จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการเงินทุนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายที่ปรับปรุง ยังมีการแก้ไขเกี่ยวกับการแต่งตั้งประธานกรรมการ ในกรณีที่ประธานกรรมการเดิมพ้นวาระ ซึ่งเดิมในช่วงที่ยังไม่มีการแต่งตั้งประธานกรรมการคนใหม่ จะส่งผลกระทบทำให้บอร์ดไม่สามารถพิจารณาเห็นชอบเรื่องใด ๆ ได้ ซึ่งร่างกฎหมายจะกำหนดเรื่ององค์ประชุมให้ชัดเจนขึ้น เพื่อไม่ให้งานสะดุด

“ร่างกฎหมายที่จะเข้า สนช.วันที่ 14 ธ.ค.นี้ ตอนนี้กำลังพิจารณากันว่า จะสามารถพิจารณา 3 วาระรวดเลยได้หรือไม่ ซึ่งหากได้ ก็จะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้เร็วขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!