เฟดจะพาเศรษฐกิจสหรัฐ ไปสู่ Soft Landing ได้หรือไม่

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

นอกจากความกังวลเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็เป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินและการลงทุนในปี 2018 และน่าจะต่อเนื่องไปในปี 2019 ด้วย ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของเฟด ปี 2019 ดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นอีกประมาณ 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 3-3.25% ซึ่งปัจจุบันตลาดการเงินไม่เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรง คาดว่าดอกเบี้ยน่าจะขึ้นได้แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น หากจำกันได้ ในปี 2018 เฟดก็ประมาณการว่าดอกเบี้ยจะขึ้น 3 ครั้ง แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ คิดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้แค่ครั้งเดียว ซึ่งในที่สุดนักลงทุนก็คาดการณ์ผิด เพราะหากรวมการประชุมในวันที่ 18-19 ธันวาคม และเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ก็เท่ากับว่าปี 2018 เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ตามที่ตั้งใจไว้

เพราะฉะนั้น การคาดการณ์เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะหากดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง 3 ครั้งจริง และตลาดรู้ว่าคาดการณ์ผิด ก็จะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่มีความอ่อนแอด้านเสถียรภาพการเงิน (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีภาระหนี้ต่างประเทศสูง หรือเศรษฐกิจภายในอ่อนแอเป็นต้น)

การที่เฟดจะปรับดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน คงต้องมาพิจารณามุมมองของเฟดต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อว่าเป็นอย่างไร สำหรับเฟดนั้นมีความชัดเจนว่า นโยบายการเงินนั้นยึด

เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลักที่ระดับ 2% ดังนั้น เมื่อเงินเฟ้อเข้าใกล้ 2% และมีภาวการณ์ตึงตัวในตลาดแรงงานที่อาจส่งผลต่อค่าจ้าง (ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ) เฟดจึงมีความชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และบอกด้วยว่าจะขึ้นไปจนถึงระดับใด (ต่างจากไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น แปลว่ามีเป้าหมายอื่นร่วมด้วย ทำให้การคาดการณ์นโยบายดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย)

สิ่งที่ทำให้ตลาดเริ่มเข้าข้างตัวเอง คือ ประธานเฟด นายพาวเวลล์ได้กล่าวในงานปาฐกถาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนว่า ดอกเบี้ยนโยบายเริ่มเข้าใกล้ระดับปกติ (neutral rate) ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดเงินดีใจ ตีความว่าเฟดกำลังส่งสัญญาณที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งฝ่ายที่มองแง่บวกมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวของสหรัฐ เช่น ยอดขายบ้าน ตัวเลขการก่อสร้างบ้าน การอ่อนตัวลงของดัชนี PMI การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหุ้น และการปรับลดการคาดการณ์กำไรในไตรมาสหน้าของบริษัท เป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอ บางส่วนมองถึงว่าพาวเวลล์กำลังถูกกดดันจากทรัมป์ ทำให้เฟดต้องหันมาชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

อันที่จริงแล้ว ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0-2.25% ซึ่งเฟดมองว่าในระยะยาวควรจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ดังนั้น สิ่งที่พาวเวลล์พูดว่า ดอกเบี้ยใกล้ระดับปกติ ก็คือ เข้าใกล้ค่าต่ำสุดของช่วงเป้าหมาย คือ 2.5% ดังนั้น การจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ หรือจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงแค่ไหน คงต้องดูสถานการณ์หรือข้อมูลเป็นตัวกำหนด (หรือที่นักเศรษฐศาสตร์มักใช้คำว่า data dependent)

ทำไมเฟดจึงมีท่าทีอ่อนลง คือ หันมาพูดถึงเรื่องข้อมูล แทนการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติ (ปรับทุกไตรมาส) เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะดอกเบี้ยได้ปรับตัวมาถึงระดับหนึ่ง ซึ่งเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการชะลอตัวของตลาดบ้าน รถยนต์ รวมทั้งตลาดหุ้น ซึ่งหมายความว่า นโยบายการเงินกำลังส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง แล้วเฟดอยากเห็นการชะลอตัว

อย่างไร แน่นอนว่าธนาคารกลางทุกแห่งต้องการดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดึงเศรษฐกิจให้ค่อย ๆ ลดความร้อนแรง หรือ soft landing แต่จะไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) นั่นคือ ให้เศรษฐกิจชะลอลงจากปัจจุบันที่ขยายตัวในระดับ 3.5% ลงมาเหลือสัก 1% การว่างงานกลับมาที่ระดับ 4.5-5% และเงินเฟ้อปรับลดลงต่ำกว่า 2% แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะสามารถดึงเศรษฐกิจลงอย่างนุ่มนวลได้

เพราะในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เมื่อธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจ มักจะเผชิญกับภาวะถดถอยแทบทุกครั้ง

ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า เฟดจะสามารถนำพาเศรษฐกิจสหรัฐไปสู่ soft landing ได้หรือไม่ หรือในที่สุดหากดอกเบี้ยขึ้นไปถึงระดับ 3% กว่า แล้วทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2020 ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!