ซีไอเอ็มบีไทยเผยเศรษฐกิจไทยปีหน้าไร้พระเอก หลังส่งออก-ท่องเที่ยวแผ่ว คาด GDP โต 3.7% ชะลอลงจากปีนี้

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจเติบโตชะลอลงอยู่ที่ 3.7% จากปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 4% เนื่องจากขาดตัวขับเคลื่อนหลักในการหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ โดยด้านการส่งออกปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3-4% ซึ่งชะลอลงจากปีนี้ เนื่องจากผลจากประเด็นสงครามการค้าที่ยังคงลากยาวต่อไปและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ทำให้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่การส่งออกอาจยังโตแต่ไม่ได้โดดเด่นนัก และในส่วนของการท่องเที่ยวมองว่าปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวหลังไตรมาสแรกทำให้ปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 40.6 ล้านราย จากปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 37.8 ล้านราย

โดยการบริโภคภาคเอกชนที่ดูเหมือนจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีถึง 5% ในปีนี้ ก็มองว่าเกิดจากปัจจัยชั่วคราวคือการซื้อรถยนต์ เพราะถึงรอบการเปลี่ยนรถหลังสิ้นสุดนโยบายรถคันแรกเมื่อ 5 ปีก่อน ในขณะที่การบริโภคกลุ่มระดับกลาง-ล่าง ถือว่าเติบโตได้น้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังคงน่าห่วง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ปีหน้าคาดว่าเติบโตได้อยู่ที่ 4.5% ขยายตัวจากปีนี้ที่อยู่ที่ 3.5% ซึ่งโดยหลักแล้วมาจากการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงาน ซึ่งต้องเพิ่มศักยภาพแรงงานให้ทันสมัยเท่าทันเครื่องจักรด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการลงทุนของภาครัฐที่หากมีความล่าช้า จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนช้าตาม

“การบริโภคภาครัฐที่มีสัดส่วนต่อ GDP เป็น 17-18% นั้น ปีหน้าคาดว่าจะโต 3.9% จากปีนี้ที่โตราว 2% เนื่องจากที่ผ่านมาเริ่มมีนโยบายเพิ่มสวัสดิการให้คนสูงอายุและคนจน ซึ่งส่วนของการโอนเงินจากรัฐสู่ประชาชนเติบโตสูง แต่มาตรการดังกล่าวยังเป็นเพียงการช่วยประคองกลุ่มคนระดับล่างเท่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากไม่เพิ่มความสามารถของคนกลุ่มนี้ในการหารายได้เอง เช่น มีการฝึกอาชีพ ในขณะที่รายได้ภาคเกษตรที่หดตัวจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ แต่การกระจายตัวในกลุ่มภาคเกษตรยังไม่ทั่วถึง” นายอมรเทพกล่าว

ในส่วนของด้านอัตราดอกเบี้ยนั้นมีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจังหวะในการขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับว่าเสียงส่วนใหญ่ของกนง. ว่ากังวลเรื่องอะไร หากกังวลเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจที่ยังช้าและมีความเสี่ยง ก็จะรอตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปีนี้ และอาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเดือน มี.ค. แต่ถ้ากรณี กนง. กังวลเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินที่มีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยต่ำนาน และความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ policy space ก็อาจขึ้นดอกเบี้ยเดือน ธ.ค. นี้ได้
“โดยทางซีไอเอ็มบีไทยมองว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเดือน มี.ค. 62 ส่วนอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า และคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ไม่ว่าจะขึ้นช้าหรือเร็วก็ไม่น่ากระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รวดเร็วเหมือนในอดีต” นายอมรเทพกล่าว

นายอมรเทพกล่าวเพิ่มเติมว่าค่าเงินบาทด้านค่าเงินบาทคาดว่าจะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในปีหน้าอยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปลายปี 61 ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจัยด้านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่จากความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ความน่าสนใจในรูปสินทรัพย์ในสหรัฐลดลง และเงินจะไหลกลับมาตลาดเกิดใหม่ได้ แต่อาจไม่ได้กลับมาทันที อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าก็อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออก เพราะค่าเงินจะแข็งกว่าประเทศคู่ค้า ทำให้เสียความสามารถในการแข่งขันได้

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อในปีหน้าคือสงครามการค้าที่ยังคงไม่ยุติ และผลการเลือกตั้งของไทยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค และนโยบายภาครัฐที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!