คลังตั้งงบขาดดุลยาวอีก10ปี อ้างลงทุนเมกะโปรเจ็กต์บีบเบิกจ่าย100%

เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

คลังของบฯขาดดุลอีก 10 ปี คาดจัดเก็บภาษีเพิ่มเงิน-เบิกจ่ายมีประสิทธิภาพ สำนักงบฯงัดมาตรการเร่งรัดเบิกจ่าย 100% ปี’63 เปิดทางท้องถิ่น 7,800 แห่งของบฯโดยตรงได้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การขาดดุลปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบฯขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท ภายใต้วงเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 15 เท่านั้น การขาดดุลงบประมาณยังอยู่ภายใต้กรอบ ไม่ได้ใช้เงินมากเกินกรอบกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้ปี 2548-49 ที่มีงบประมาณสมดุลเนื่องจากเศรษฐกิจดี สามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าและเป็นไปตามเป้า อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี’49 เป็นต้นมา สภาวะเศรษฐกิจยังต้องการชดเชยการขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายงบประมาณสมดุลภายในปี 2573 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อกันเงินไว้ลงทุนโครงการพื้นฐาน โดยขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และประสิทธิภาพของรายจ่าย

สำนักงบประมาณจะเสนอมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละไตรมาสเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ จ.หนองคาย ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บท โดยตั้งเป้าการเบิกจ่ายของทุกส่วนรายการ 100% ต่อปี เริ่มโครงการงบประมาณปี 2562

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า งบประมาณส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงรายได้ที่สามารถจัดเก็บได้เอง ทั้งนี้ งบประมาณประจำปี 2563 สำนักงบประมาณเปิดโอกาสให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 7,800 แห่ง สามารถขอตรงที่สำนักงบประมาณได้ทันที

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบแผนการคลังระยะปานกลาง 3 ปี (ปี 2565) โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะรายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2561 และคาดการณ์สถานะหนี้สาธารณะ ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลางปี 2565 ดังนี้

ภาพรวมหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี งบประมาณ ‘61 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ไม่เกินร้อยละ 60 หรือร้อยละ 41.7 สำนักหนี้สาธารณะคาดการณ์ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง สัดส่วนยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 หรือร้อยละ 45-47

หนี้สาธารณะต่อต่างประเทศ คาดการณ์ยังอยู่ภายใต้กรอบไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หรือร้อยละ 3.86 คาดการณ์ในระยะปานกลางมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 2 รวมถึงสัดส่วนภาระหนี้ต่างประเทศต่อรายได้ของประเทศในส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

สัดส่วนภาระหนี้งบประมาณของรัฐบาลต่อรายได้ ยังอยู่ภายใต้กรอบไม่เกินร้อยละ 35 เฉลี่ยร้อยละ 20-33 ซึ่งอยู่ในกรอบของความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ขณะที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนยังอยู่ภายใต้กรอบสามารถบริหารจัดการได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!