ค่าเงินนิ่ง รอผลประชุมเฟดสัปดาห์หน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 11-14 ธันวาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (11/12) ที่ระดับ 32.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/12) ที่ระดับ 32.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินปอนด์ ที่ร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษเลื่อนการลงมติข้อตกลงในการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในรัฐสภา ซึ่งการตัดสินใจกะทันหันของนางเมย์เกิดขึ้นไม่ถึง 30 ชั่วโมงก่อนที่รัฐสภาจะลงมติ ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการเกิด Brexit แบบไม่มีข้อตกลง, ข้อตกลงในนาทีสุดท้าย หรือการประชามติอีกครั้งของสหราชอาณาจักร โดยหลังจากที่ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะมีการเตรียมประชุมร่วมกับผู้นำของยุโรป และเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อหาทางออกให้กับร่างข้อตกลงว่าด้วยการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าในวันศุกร์ (7/12) กระทรวงแรงงานสหรัฐ จะมีรายงานตัวเลขออกมาว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนพฤศจิกายน โดยเพิ่มขึ้นเพียง 155,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ครดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ขณะทีี่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2512 และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 6 เซนต์ หรือ 0.2% ในเดือนพฤศจิกายน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบรายปี แต่ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังดำเนินไปด้วยดี อีกทั้งสื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐเตรียมประกาศเลื่อนเวลาการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ออกไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2562 จากกำหนดเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2562 ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังมีการประกาศตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานลดลง 27,000 ทััั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.77-32.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 32.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนยังคงจับตารอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ที่จะจัดขึ้น ณ วันที่ 18-19 ธันวาคม และการประชุมนโยบายทางการเงินของไทยที่จะจัดขึ้น ณ วันที่ 19 ธันวาคมนี้

ในส่วนของค่าเงินยุโรปนั้น เปิดตลาดในวันอังคาร (11/12) ที่ระดับ 1.1364/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/12) ที่ระดับ 1.1368/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยว่า ยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.73 หมื่นล้านยูโร (1.968 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนตุลาคม จากระดับ 1.77 หมื่นล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า ซึ่งในส่วนของยอดส่งออกเดือนตุลาคม ขยายตัว 0.7% จากเดือนกันยายน ซึ่งน้อยกว่ายอดนำเข้าที่ขยายตัว 1.3% ในช่วงเดือนกันยายน ทั้งนี้ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากการขาดดุลภาครัฐของยูโรโซน ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนายมาครองได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวอาจส่งผลให้เป้าการขาดดุลของฝรั่งเศสเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินยูโรยังคงร่วงอย่างต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในการประชุมนโยบายการเงิน พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ที่ระดับ -0.4% ขณะทีี่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% โดย ECB ระบุว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูร้อนในปีหน้า นอกจากนี้ ECB ประกาศยุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงสิ้นเดือนนี่้ หลังจากที่ได้เข้าซื้อพันธบัตรในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโร (1.74 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อเดือนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1284-1.1443 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 1.1298/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันอังคาร (11/12) ที่ระดับ 113.16/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/12) ที่ระดับ 112.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากที่ถูกกดดันโดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ออกมาหดตัวลง 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลขดังกล่าวถูกทบทวนลงจากรายงานเบื้องต้นที่ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 1.2% และยังเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่หดตัว 7.3% ในไตรมาส 2 ของปี 2557 การชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายด้านการลงทุน โดยก่อนหน้านี้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึง ไต้ฝุ่นเชบี ที่พัดถล่มทางตะวันตกของญี่ปุ่น จนส่งผลให้ต้องมีการปิดให้บริการสนามบินหลักของโอซาก้าชั่วคราว และแผ่นดินไหวรุนแรง 6.7 แมกนิจูด ที่เขย่าเกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของประเทศในเดือนกันยายน ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เช่น ผู้ค้าปลีก และบริษัทเทคโนโลยี นอกจากนี้รายจ่ายด้านการลงทุนร่วงลง 2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับทบทวนลงอย่างมากจากที่ลดลงเพียง 0.2% ในรายงานเบื้องต้น รวมถึงการใช้จ่ายภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเช่นกัน ถูกปรับทบทวนเป็นลดลง 0.2% จากเดิมลดลง 0.1% ส่วนการลงทุนภาคสาธารณะลดลง 2.0% จากเดิมลดลง 1.9% ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.23-113.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 113.56/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ