เลือกซื้อประกันชีวิตแบบฉบับ ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) www.actuarialbiz.com

 

 

 

 

ด้วยภาวะการแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทประกันชีวิตแข่งกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายจนผู้บริโภคสับสนว่าเวลาจะเลือกซื้อประกันชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงสุดควรจะพิจารณาอย่างไร

ผมจึงอยากแนะนำวิธีการพิจารณาเลือกซื้อแบบการประกันชีวิตเพื่อให้ผู้ซื้อได้ประโยชน์สูงสุดควรพิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ข้อดังต่อไปนี้

1.ตรวจเช็กสุขภาพทางการเงินของตนเองก่อน ว่ามีทุนประกันอยู่เพียงพอที่จะให้คนข้างหลังได้ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปโดยที่ไม่เดือดร้อนทางการเงินได้นานกี่เดือนหรือกี่ปี

2.มองหาแบบประกันที่ตรงกับช่วงจังหวะชีวิตของตนเอง เพราะแต่ละวัยย่อมมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน โดยให้มองถึงระยะเวลาของความคุ้มครองด้วย พร้อมระยะเวลาในการชำระเบี้ยด้วย อีกทั้งให้วางแผนล่วงหน้าว่าแบบประกันชีวิตนี้สามารถเลือกซื้อสัญญาเพิ่มเติมอะไรได้บ้าง

3.ต้องการการันตีมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันมีให้เลือกตั้งแต่แบบประกันทั่วไป (ที่บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไว้เอง) แบบประกันยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (ที่บริษัทประกันภัยคอยประกาศจ่ายให้ crediting rate เป็นระยะ) หรือแบบประกันยูนิตลิงค์ (ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนเองทั้งหมด) เป็นต้น

ทั้งนี้ เราไม่ควรใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) เพียงอย่างเดียวมาใช้ในการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต เนื่องจากแบบประกันชีวิตแต่ละแบบมีส่วนผสมของความคุ้มครองที่ไม่เหมือนกัน เวลาที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นจะคำนึงถึงสัดส่วนของการสะสมทรัพย์กับความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก

ยกตัวอย่างเช่น เบี้ยประกันชีวิต 100 บาทที่ได้รับมานั้น สำหรับแบบประกันชีวิตของบริษัทหนึ่งอาจจะเป็นการสะสมทรัพย์ 80 บาท และความคุ้มครองชีวิต 20 บาท ส่วนสำหรับของอีกบริษัทหนึ่งอาจจะเป็นการสะสมทรัพย์ 70 บาท และความคุ้มครองชีวิต 30 บาท

การที่ดูอัตราผลตอบแทน (IRR) เพียงอย่างเดียวจะบอกได้แค่ผลตอบแทนในส่วนของการสะสมทรัพย์เท่านั้น อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตบางแบบอาจจะมีส่วนผสมของเบี้ยประกันภัยในส่วนของการสะสมทรัพย์เพียงแค่ 10 บาท และเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองชีวิตถึง 90 บาทก็เป็นได้

ด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันเหล่านี้ จึงทำให้นำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตต่างแบบมาเปรียบเทียบกันด้วย IRR อย่างเดียวไม่ได้ หรืออาจเทียบให้เห็นภาพเช่นเดียวกับกาแฟที่มีวิธีการปรุงหลายแบบ อาทิ ลาเต้ มอคค่า คาปูชิโน่ เอสเปรสโซ่ ต่างก็มีส่วนผสมของเนื้อกาแฟและนมที่แตกต่างกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ากาแฟที่ปรุงแบบไหนดีกว่ากัน

นอกจากนี้ เงินสดคืนของแต่ละแบบประกันชีวิตก็มีไม่เหมือนกัน บางแบบจ่ายก่อน บางแบบจ่ายหลัง บางแบบให้ฝากคืนกลับบริษัทได้ แต่บางแบบฝากคืนกลับไม่ได้ การคำนวณอัตราผลตอบแทน (IRR) นั้น มีข้อจำกัดตรงที่เป็นวิธีการที่สมมุติว่าเงินสดคืนนั้นสามารถฝากกลับกับบริษัทได้ด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงแบบ IRR

ดังนั้น การคำนวณอัตราผลตอบแทน (IRR) มาใช้เปรียบเทียบจึงเป็นการพยายามเอาแอปเปิลมาเปรียบเทียบกับส้ม เราจึงไม่ควรลืมว่า การซื้อประกันชีวิตคือการสะสมทรัพย์ที่มีความคุ้มครองไปด้วย ซึ่งบ่อยนักที่เราจะเห็นแบบประกันชีวิตที่มีอัตราผลตอบแทน (IRR) สูง แต่ให้ประโยชน์กับผู้เอาประกันภัยบางกลุ่มสู้แบบประกันชีวิตที่มีอัตราผลตอบแทน (IRR) รองลงมาแต่มีทุนความคุ้มครองชีวิตที่คุ้มค่ากว่าไม่ได้

อนึ่ง หนึ่งในหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยคือการเป็นคนที่วางแผน ออกแบบ คำนวณ และกำหนดราคาของเบี้ยประกันภัยของคนแต่ละคนว่าควรเป็นเท่าไรตามความเสี่ยง ความคุ้มครอง และนโยบายลงทุนของบริษัทประกัน เพื่อที่ให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค บริษัทประกัน และรวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่าย (หมายถึงแบบประกันไม่ควรแพงเกินไปจนขายไม่ได้เลย และก็ไม่ควรถูกเกินไป จนทำให้บริษัทขาดทุนล้มละลายไป)

ดังนั้น ในการเลือกซื้อประกันชีวิต ต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เพราะทุกคนมีความเสี่ยง มีความต้องการ มีความมุ่งหวังที่แตกต่างกัน การวางแผนทางการเงินจึงอาจแตกต่างกัน และทุกแบบประกันชีวิตก็มีส่วนผสมที่ออกแบบมาเพื่อให้ลงตัวในแบบของมันเอง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!