ถอดรหัส “หนี้ครัวเรือน” เมื่อ “หนี้” โตเร็วกว่า “เศรษฐกิจ”

หนึ่งในปัญหารากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยก็คือ ประชาชนมีสัดส่วน “เงินออมต่ำ” การกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศที่ผ่านมาจึงมาพร้อมการก่อหนี้ และเมื่อสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยอยู่ในระดับสูงแตะ 80% ต่อจีดีพี จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศช่วงที่ผ่านมา และหลายฝ่ายก็กังวลว่าปัญหาอาจจะเพิ่มมากขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และยังเป็นลักษณะของ “รวยกระจุก จนกระจาย”

แจง “ศก.ดี-ดอกเบี้ยถูก” ต้นเหตุ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ออกรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 3/2561 ของไทยเพิ่มเติม หลังจากเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 ได้มีการรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2561 เพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” ของประเทศชัดเจนมากขึ้น

นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ข้อมูลไตรมาส 2/2561 หนี้สินครัวเรือนของไทยที่มีมูลค่า 12.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เทียบกับช่วงเดียวกัน

ปีก่อนที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 11.68 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำ และความต้องการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2560 หลังจากสิ้นสุดเงื่อนไขการถือครองรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 77.5% จากไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ระดับ 77.7% มีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ จึงไม่น่ากังวล หลังจากที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงสุดในปี 2558 อยู่ที่ 80.8%

ก่อหนี้ซื้อบ้าน-รถยนต์

“แม้ว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2561 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่น่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น 7.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 6% แต่ถือว่าชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 10.3% ขณะที่สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.73% เทียบกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.72% และหนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็นสัดส่วน 26.80% ของเอ็นพีแอลรวมทั้งระบบเทียบกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ 26.22%”

อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้เกินกว่าครึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร โดยข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้กับครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2561 สัดส่วนประมาณ 73% เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่น ๆ ซึ่งเป็นการก่อหนี้ที่ทำให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกัน สัดส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เท่ากับ 51.5% และสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 23.8% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.4% สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 12.5% สินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 8.7%

“หนี้ครัวเรือน” เพิ่มต่อเนื่อง

นางชุตินาฏ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากมีปัจจัยภายนอกมากระทบอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ในขณะเดียวกัน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคบุคคลอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ เร่งตัวขึ้นตามมาตรการส่งเสริมการขายที่จูงใจผู้บริโภค และอาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มได้

“ส่วนปัจจัยดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการผิดนัดชำระของลูกหนี้หรือไม่ ต้องติดตามการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดต่อการผิดนัดชำระของลูกหนี้”

หนี้เสีย “สินเชื่อบุคคล” โตเฉียด 10%

นางชุตินาฏระบุว่า สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยยอดผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป หรือเอ็นพีแอลของสินเชื่อส่วนบุคคลมีมูลค่า 9,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% คิดเป็น 2.6% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ขณะที่เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 7,200 ล้านบาท ลดลง 0.2% คิดเป็น 1.9% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

ขณะที่รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภาพรวมของสินเชื่อบุคคลในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านจำนวนบัญชีและยอดคงค้าง โดยมีแรงผลักจากการกลับเข้ามารุกธุรกิจของผู้ให้บริการในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพื่อชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป ท่ามกลางความกังวลต่อความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ โดยคาดว่าปีนี้สินเชื่อบุคคลทั้งระบบจะเติบโตใกล้ ๆ 8% และคาดว่าจะรักษาแรงส่งต่อเนื่องไปในปี 2562 เติบโตในระดับ 7.5-9% ซึ่งสะท้อนถึงภาพการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อไป

เกาะติดสินเชื่อบ้าน-รถปี”62

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัญหาเอ็นพีแอลของระบบคาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.91% ก่อนจะเร่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2.98% ในสิ้นปี”62 ซึ่งอาจจะแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในช่วงระหว่างปี เนื่องจากยังมีความกังวลต่อสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และเอสเอ็มอีอยู่ โดยปีหน้าคาดว่า NPL ของสินเชื่อบ้านจะอยู่ที่ 3.42% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในปีนี้ที่ 3.38%

สำหรับสินเชื่อบ้านที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปีหน้าคาดว่าโต 5% ลดลงจากปีนี้ที่ขยายตัว 7% เนื่องจากจะมีการเร่งทำธุรกรรมก่อนบังคับใช้เกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยในเดือน เม.ย. 2562 ซึ่งคาดการณ์ยอดโอนที่อยู่อาศัยปีหน้าจะเร่งตัวช่วงไตรมาสแรกทำให้ยอดสินเชื่อเติบโต 14.1% และคาดว่าไตรมาส 2 ก็จะหดลงไปอยู่ที่ -5.6% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์จะขยายตัว 5.5% ลดลงอย่างมากจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 12% ซึ่งยอดขายรถปีนี้น่าจะแตะ 1 ล้านคัน

ขณะที่ปีหน้าตลาดรถยนต์จะหดตัวลงราว 3% หรือมียอดขายราว 9 แสนกว่าคัน ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตคาดว่าจะเติบโตราว 7% เท่าปีนี้ จากการออกแคมเปญของธนาคารต่าง ๆ

แบงก์ชาติชี้โอกาส “ลดหนี้” ยาก

นอกจากนี้ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2/2561 ปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และที่สำคัญต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งให้ติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้ใหม่ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 2562 และความเข้มงวดในการให้สินเชื่อรถยนต์ที่เริ่มผ่อนคลายตามการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การปรับลดลงของสัดส่วนหนี้ต่อรายได้เกิดขึ้นได้ช้า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!