เซ็นสัญญา “ศูนย์สิริกิติ์” อีก 50 ปี “เจริญ” ผุดฮอลล์ยักษ์หมื่นล้าน

ธนารักษ์ได้ฤกษ์เซ็น “เอ็น.ซี.ซี.ฯ” สัญญาเช่าบริหารศูนย์สิริกิติ์ 50 ปี วันที่ 21 ธ.ค.นี้ ลุยพัฒนาเฟส 3 คอนเวนชั่นฮอลล์-เอ็กซิบิชั่นฮอลล์ครบวงจรใจกลางเมือง พับแผนสร้างโรงแรมเหตุติดข้อจำกัดความสูง เผยปี”62 โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุขนาดใหญ่เดินเครื่องเต็มสูบ ทั้งที่ดินหมอชิต-โรงภาษีร้อยชักสาม-ศูนย์ราชการโซน C

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 การพัฒนาที่ราชพัสดุ 3-4 โครงการจะมีความคืบหน้า คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวม 6-7 หมื่นล้านบาท กรมจะมีรายได้ส่งคลังถึง 10,000 ล้านบาท

ศูนย์สิริกิติ์พับแผนโรงแรม

โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระยะที่ 3 จะลงนามสัญญาเช่ากับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด วันที่ 21 ธ.ค.นี้ หลังลงนามเอกชนจะออกแบบแล้วทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และยื่นขออนุญาตก่อสร้าง

“โครงการนี้้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยให้แก้สัญญาเดิม ซึ่งสัญญาใหม่จะลงทุน 6,000-10,000 ล้านบาท สัญญาเช่า 50 ปี ช่วง 3 ปีแรกจะเป็นช่วงก่อสร้าง คาดว่าศูนย์ประชุมสิริกิติ์จะปิดให้บริการสิ้นปีนี้ ช้าสุดไม่เกินเดือน เม.ย. 2562”

ในส่วนของโครงการที่จะลงนามในสัญญาได้ตัดเรื่องการก่อสร้างโรงแรม เหลือเฉพาะศูนย์ประชุม นิทรรศการ และที่จอดรถ เนื่องจากถูกจำกัดความสูงของอาคารไม่เกิน 23 เมตร ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กรมจะได้ค่าธรรมเนียม 407 ล้านบาท จ่ายในวันทำสัญญา 275 ล้านบาท ที่เหลือชำระเดือน มี.ค. 2562 นอกจากนี้จะมีค่าเช่าตลอดสัญญาอีก 5,000 ล้านบาท

เชื่อมสวนป่าโรงงานยาสูบ

สำหรับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ติดกับพื้นที่โรงงานยาสูบต้องส่งมอบพื้นที่คืนนั้นยืนยันว่า ไม่ได้เอื้อต่อเอกชน เพราะเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อ 20 ปีก่อน โดยให้นำที่ดินส่วนที่ติดกับสวนน้ำมาทำเป็นสวนป่า 430 ไร่ แต่ส่วนสำนักงานใหญ่ของโรงงานยาสูบ กับโรงพยาบาลยาสูบไม่ได้ต้องส่งมอบคืน

“ตอนนี้มีส่วนที่เป็นสวนน้ำคืนมาแล้ว 130 ไร่ เหลืออีก 300 ไร่ เดิมจะส่งมอบให้เสร็จภายในปี 2562 แต่อาจล่าช้าไปถึงปี 2563 เพราะโรงงานยาสูบใหม่ติดตั้งเครื่องจักรล่าช้า”

ปัดฝุ่นโปรเจ็กต์ที่ดินหมอชิต

นายอำนวยกล่าวว่า ส่วนโครงการที่ 2 เดินหน้าชัดเจนแล้ว หลังค้างมากว่า 20 ปีเป็นการพัฒนาที่หมอชิต 7 แสนตารางเมตร มูลค่า 27,000 ล้านบาท หลังศาลตัดสินว่าสัญญายังเดินอยู่ ล่าสุด ครม.อนุมัติให้แก้ไขสัญญากับบริษัท บางกอกเทอร์มินอล (BKT) หลังจากนี้จะต้องออกแบบก่อสร้าง ทำ EIA และขออนุญาตท้องถิ่นให้เสร็จก่อนลงนาม

“หลังจาก ครม.มีมติ กระทรวงการคลังก็ตั้งคณะกรรมการมาตรา 43 ของพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมกิจการของรัฐเพื่อกำกับสัญญา ซึ่งเร่งประชุมในเดือน ธ.ค.นี้ และจะแจ้งไปยังเอกชนว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ต้องออกแบบให้เสร็จภายในกี่เดือน ต้องขอ EIA ขออนุญาตท้องถิ่นให้จบภายในกี่เดือน เพื่อให้ลงนามโดยเร็ว คาดว่าปีหน้าช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนคู่สัญญา หากจะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนก็ทำได้”

โครงการที่หมอชิตนี้ รัฐจะได้ค่าธรรมเนียม 550 ล้านบาท โดยเอกชนจ่ายแล้ว 159 ล้านบาท ที่เหลือจะแบ่งจ่าย 4 งวด ตกปีละ 100 ล้านบาท ส่วนค่าฐานรากอีก 1,200 ล้านบาท เอกชนจะจ่ายให้ต่างหากและแบ่งจ่าย 2 งวด งวดแรก 387 ล้านบาท ในวันทำสัญญา ที่เหลืออีก 900 ล้านบาท จ่ายใน 180 วัน

เดินหน้าโรงภาษีร้อยชักสาม

ส่วนโครงการที่ 3 คือ โรงภาษีร้อยชักสาม ขณะนี้เจรจากับบริษัท บีทีเอส ที่เป็นคู่สัญญาใหม่ ได้ข้อสรุปหมดแล้ว ด้วยมูลค่าลงทุน 3,300 ล้านบาท ยังคงสร้างโรงแรม แต่อาจจะปรับแบบให้มีจำนวนห้องพักมากขึ้นจาก 33 ห้อง เป็นกว่า 60 ห้อง เวลาเช่า 30 ปี

“ตอนนี้อยู่ที่ขั้นอัยการตรวจสัญญาเมื่อเสร็จแล้วจะเสนอ ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาอีกที หลังล่าช้ามากว่า 10 ปีแล้ว”

ชง ครม. กู้ลงทุนศูนย์ราชการ

ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เนื้อที่ 81 ไร่ 2 งาน 59 ตารางวา วงเงิน 30,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติหลักการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยจะมีส่วนราชการเข้ามาใช้พื้นที่ 11 หน่วยงาน


“ต่อไปจะต้องเสนอ ครม.อนุมัติเรื่องเงินกู้ หลังมีมติให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสม รวมระยะก่อสร้างออกแบบ 3 ปีเศษ โดยดอกเบี้ยถูกสุดคือ ให้ สบน.กู้แล้วมาให้ ธพส.กู้ต่อ แต่ถ้าใช้วิธีให้ สบน.จัดหาแหล่งเงินกู้ให้ ธพส.กู้เองดอกก็จะแพงกว่า”