บล.KTB ชูหุ้นเก่า-ใหม่ขาย IPO ปี’62 ปั๊มรายได้ 1.4 พันล้าน

บล.เคทีบียื่น ก.ล.ต.ขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดระดมทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท รองรับธุรกิจปล่อยมาร์จิ้น เผยแผนขายหุ้น IPO มี 2 ส่วน คือ ผู้ถือหุ้นเดิมเทขายและออกหุ้นใหม่ เปิดแผนธุรกิจปีหน้ารายได้แตะ 1.4 พันล้านบาท กำไรก่อนหักภาษีพุ่งเท่าตัวจากปีนี้

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า แผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) นั้น ทางที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) จะยื่นแบบแสดงข้อมูลของบริษัทต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีแผนจะระดมทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 16 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 10 บาท ซึ่งจะมีหุ้น 2 ส่วนที่นำเสนอขายแก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) คือส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมทั้งฝั่งเกาหลีและไทย และส่วนที่ออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำหุ้นเดิมออกมาขายจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 670 ล้านบาทและคาดจะเข้าซื้อขายวันแรกในต้นปีหน้า ส่วนเงินที่ระดมทุนได้จะนำมาใช้รองรับธุรกิจการปล่อยมาร์จิ้น หลังการขายหุ้น IPO สัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจะทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่จากเกาหลี “บริษัท เคทีบี อินเวสต์เมนท์ แอนด์ ซิคิวริตี้” จะลดเหลือ 55% จากที่ถืออยู่ 60.49% ส่วนตนก็เหลืออยู่เท่าปัจจุบันที่ถืออยู่ 13.71% และเร็ว ๆ นี้จะมีเจ้าหนี้ของนายวินได้แปลงหนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น KTBS แทน และจะนำหุ้นส่วนนี้ออกมาขาย IPO ด้วย ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายชื่อราว 6 คนต่อไป

“แม้ว่าหุ้นโบรกเกอร์ คนจะไม่ค่อยสนใจ แต่เราก็ยังต้องการเข้าตลาดหุ้น ซึ่งที่ผมมาทำธุรกิจหลักทรัพย์ก็เพราะแพลตฟอร์มไม่เหมือนโบรกฯอื่น เราเน้นการให้บริการการวางแผนการลงทุนแบบครบวงจรมากกว่าเทรดหุ้น และปีหน้าจะมีให้บริการด้าน FX (อัตราแลกเปลี่ยน) ให้ลูกค้าซื้อขายได้ นอกจากนี้ เรามีแผนจะขยายไป CLMV และหาพันธมิตรเพิ่ม รวมทั้งศึกษาเทคโนโลยี DLT บล็อกเชน”

ส่วนทิศทางธุรกิจในปีหน้า นายวินกล่าวว่า ได้ตั้งเป้าหมายรายได้รวม 1,300-1,400 ล้านบาท โต 25% จากสิ้นปีนี้ที่คาดจะทำได้ใกล้เคียงกับปัจจุบันที่อยู่ 1,074 ล้านบาท ส่วนกำไรก่อนหักภาษีคาดอยู่ที่ 185 ล้านบาท เพิ่ม 1 เท่าตัวจากปีนี้ที่คาดจะทำได้ 80 ล้านบาท

โดยต้นปีหน้าจะเห็นการรุกบริการช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งเดือน มิ.ย. 62 จะมีซิงเกิลแอปพลิเคชั่นให้บริการเปิด บัญชีเดียวสามารถซื้อขายสินค้าได้ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนรวม สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) กองทุนต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์เรจ) ยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจจะเป็นที่ปรึกาษานำบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) ราว 4-5 ตัว มูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ออกตราสารหนี้ทั้งตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ ซึ่งทำให้ลูกค้าบริษัท กว่า 40 บริษัท มูลค่า 47,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันรายได้ค่าฟีโบรกเกอร์ ของเราอยู่ระดับที่สูงกว่าตลาดโดยรวม ซึ่งของเรายังเห็นเลข 1 อยู่ ซึ่งลูกค้าของบริษัทยังเป็นบุคคลธรรมดาอยู่ 75-80% ของทั้งหมด ที่เหลือจะเป็นสถาบัน แต่ปีหน้าเราจะเพิ่มสัดส่วนสถาบันขึ้นมาอยู่ที่ 35-40% ปีหน้าต้องยอมรับว่าวอลุ่ม (มูลค่าการซื้อขายรวม) ของทั้งตลาดจะคล้ายกับ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ที่อยู่เฉลี่ย 30,000 ล้านบาท ลดลงจากที่เคยเห็น 50,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะดีในช่วงใกล้เลือกตั้ง”

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล ซึ่งในปี 62 คาดมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) เติบโต 125,000 ล้านบาทตามลำดับ ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลคาดมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) โตแตะ 3,000 ล้านบาทในปีหน้า ด้านธุรกิจตัวแทนนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน คาด AUA โตขึ้นมาที่ 10,000 ล้านบาทา

นายวินกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีหน้าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จะเริ่มดำเนินธุรกิจได้โดยตั้งเป้าหมายเติบโต 5,000 ล้านบาท และเคทีบีเอสที รีทส์เมนเนจเม้นท์ เติบโต 3,000 ล้านบาท รวมถึงตั้งเป้าหมายรักษาส่วนแบ่งการตลาดของการเทรด TFEX ให้ติดอันดับ 1 ใน 5 อันดับแรกเช่นเดิม ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 5-10%

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!