“เคทีซี” ปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ รุก “นาโน-พิโก” ฝ่าพายุดิสรัปชั่น

ท่ามกลางพายุ “ดิสรัปชั่น” ธุรกิจการเงินต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจบัตรเครดิตที่ทำกำไรได้ดีต่อเนื่องมาหลายปีอย่าง “บมจ.บัตรกรุงไทย” หรือ “บัตรเครดิต KTC”

ล่าสุด “ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลัดฟ้าไปร่วมกิจกรรม “ฟ้าจรดทราย ที่อียิปต์” เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สิ้นปี 2561 นี้บริษัทน่าจะทำกำไรได้ราว 5,000 ล้านบาท หลังจาก 9 เดือนแรกมีกำไรแล้ว 3,911 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 65% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่แผนปี 2562 คาดการณ์กำไรโตเพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปีนี้ และตั้งเป้ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (สเปนดิ้ง) จะเพิ่มขึ้น 15% จากปีนี้ที่อาจจะโตแค่ 10%

“ระเฑียร” บอกว่า 9 เดือนปีนี้ KTC มีจำนวนสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลรวม 3.2 ล้านบัญชีแล้ว ซึ่งเวลาที่เติบโตมากขึ้น ๆ ก็จะมีฐานที่ใหญ่ขึ้น ทำให้แนวโน้มการเติบโตระยะต่อไปก็เริ่มทำไม่ได้อย่างที่คิดไว้

“ปีนี้วงการธนาคารถูกดิสรัปต์ค่อนข้างมาก และเชื่อว่าปีหน้าจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้บริษัทต้องหาธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามา เรื่องหนึ่งก็คือ การทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์เพิ่มเข้ามา” นายระเฑียรกล่าว

เขาให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ขณะนี้โมเดลธุรกิจนาโนไฟแนนซ์-พิโกไฟแนนซ์ที่จะทำเตรียมไว้พร้อมแล้ว เพียงแต่ยังรอการอนุมัติจากธนาคารกรุงไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“เราประกาศไป 3 เดือนแล้วคงต้องหาทางทำให้ได้ หรือไม่อย่างนั้นอาจจะต้องร่วมมือกับใครสักคนที่จะทำเรื่องนี้ เพราะโมเดลธุรกิจดูแล้วเป็นไปได้” นายระเฑียรกล่าว

หัวเรือใหญ่ KTC ยังบอกด้วยว่า บริษัทได้ฝึกอบรมพนักงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือผสานเข้ากับความเป็น “human” ของ “คน KTC” ซึ่งจะมีความแตกต่างจากที่คนอื่นทำ เรียกว่า “digi-tal tool” โดยขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานภายในไปค่อนข้างมาก

“พิทยา วรปัญญาสกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต KTC บอกว่า ปีหน้าบริษัทตั้งเป้าเพิ่มบัตรเครดิตใหม่ 2.8 แสนบัตร จากปีนี้ที่จะทำได้ 2.7-2.8 แสนบัตร ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3-4 แสนบัตร เนื่องจากบริษัทเข้มงวดในการหาลูกค้าใหม่มากขึ้น โดยปัจจุบันมียอดการอนุมัติบัตรใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 47-48% มีฐานลูกค้าบัตรเครดิต 2.3 ล้านบัตร ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเฉลี่ย 1.2-1.3 หมื่นบาท/คน/เดือน

“เราพยายามเปลี่ยน “cash” เป็น “card” โดยหาวิธีทำให้ธุรกิจหันมารับบัตรมากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทาย โดยยังคงเน้นการทำโปรโมชั่นผ่านตัวสะสมคะแนน การผ่อนชำระ และสิทธิประโยชน์พิเศษด้านท่องเที่ยว ซึ่งตั้งแต่ต้นปีหน้าจะขยายครอบคลุมพันธมิตรระดับโลกแบบเป็น “one stop service” นางพิทยากล่าว พร้อมระบุว่า ในส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เฉพาะของบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือน พ.ย.61 อยู่ที่ 1.16% ต่ำกว่าตลาด มีการผิดนัดชำระหนี้อยู่ประมาณ 1.5% ส่วนเอ็นพีแอลภาพรวมของบริษัท ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.8-0.9% ทั้งนี้ในปีหน้าก็จะรักษาระดับ NPL ไม่ให้เกินจากนี้

ขณะที่ “ปิยศักดิ์ เตชะเสน” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า KTC ยอมรับว่า ปี 2561 เป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากนโยบาย ธปท.ที่มีความเข้มงวดขึ้นทั้งด้านสินเชื่อ และ market conduct ทำให้ทีมขายต้องปรับตัวอย่างมาก ซึ่งปีหน้าบริษัทจะเน้นคุณภาพการขายมากกว่าปริมาณ โดยช่องทางการขายจะใช้ตัวแทนขายอิสระและสาขาของธนาคารกรุงไทยเป็นหลัก ส่วนระยะยาวจะใช้ช่องทางออนไลน์

“เราประสบความสำเร็จมากในการอนุมัติสินเชื่อบุคคล รู้ผลภายใน 30 นาที ที่สาขาเคทีซี 20 สาขาในกรุงเทพฯและที่เชียงใหม่ โดยในเดือน ม.ค. 2562 จะเริ่มทดลองกับสาขาธนาคารกรุงไทยประมาณ 5 สาขาในห้างสรรพสินค้า ซึ่งอันนี้จะทราบผลภายใน 30-60 นาที” นายปิยศักดิ์กล่าว

ส่วนภาพการแข่งขันในปีหน้า “พิชามน จิตรเป็นธรรม” ผู้อำนวยการธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC ฉายภาพว่า ธุรกิจสินเชื่อบุคคลปีหน้าการแข่งขันจะยิ่งมีความร้อนแรง ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิม และผู้ประกอบการรายใหม่ แต่บริษัทน่าจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายด้วยกลยุทธ์หลัก คือ 1.การขยายจำนวนสมาชิกใหม่ถึงระดับ 1 ล้านราย จากที่มีอยู่ 9.2 แสนราย และ 2.รักษาฐานสมาชิกเดิมผ่านแคมเปญ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง” ซึ่งจะยิงยาวตลอดทั้งปี

ด้านการระดมทุน “ชุติเดช ชยุติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน KTC บอกว่า ปีหน้าอาจเป็นปีที่หลายธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายด้านอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ทางบริษัทเตรียมการรับมือมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว โดยออกหุ้นกู้ระยะยาว 5-10 ปี ขณะที่แผนปี 2562 บริษัทจะออกหุ้นกู้ใหม่จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัท และทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดจำนวน 5,300 ล้านบาท ซึ่งจะมีต้นทุนดอกเบี้ยราว 3-3.1%

“สิ่งเหล่านั้นจะเริ่มส่งผลกับเราในปีหน้าเป็นต้นไป เนื่องจากได้ล็อกต้นทุนดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้แล้ว โดยปัจจุบันได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วรวม 45,800 ล้านบาท มากกว่า 80% เป็นหุ้นกู้มีการล็อกเรต ฉะนั้น คงจะกระทบกับบริษัทไม่มาก” นายชุติเดชกล่าว

ปีหน้าธุรกิจบัตรเครดิตคงไม่ง่าย แต่ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ช่วงที่ผ่านมา “ระเฑียร” คงนำพาองค์กรแห่งนี้ไปสู่เป้าหมายได้ แต่ยังคงต้องจับตาการรุกโมเดลธุรกิจใหม่ว่าจะตอบโจทย์ได้แค่ไหน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!