กนง.และเฟดพร้อมใจปรับดอกเบี้ยนโยบาย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 17-21 ธันวาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/12) ที่ระดับ 32.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 32.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ หลังจากตลาดเฝ้ารอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันพุธ (19/12) และการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนวันพุธเช่นกัน (19/12) โดยผลการประชุม กนง. ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราปรากฎว่าดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.50% มาสู่ระดับ 1.75% ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

ขณะเดียวกัน กนง.มีการปรับลดการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของปี 2018 ลง จากระดับ 4.4% เป็น 4.2% และของปี 2019 จากระดับ 4.2% เป็น 4.0% ในขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นร้อยละ 0.25 สู่ระดับ 2.25-2.50 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ในปีนี้ อย่างไรก็ตามได้ปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าลง เหลือ 2 ครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง นอกจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับร้อยละ 3.0 จากเดิมที่รัอยละ 3.1 และปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีหน้าสู่ระดับร้อยละ 2.3 จากเดิมที่ร้อยละ 2.5 ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ในปี 2563 ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 2 และตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ในปี 2564 ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.8

นอกจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวในระยะยาว สู่ระดับร้อยละ 1.9 ทั้งนี้ช่วงท้ายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความส่งสัญญาณว่าเขาอาจจะวีโต้ร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวที่สภาคองเกรสให้การอนุมัติ เนื่องจากเขาจะตอบโต้พรรคเดโมแครตที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณในการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.59-32.77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (17/12) ที่ระดับ 1.1304/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 1.1294/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากแรงเทขายดอลลาร์ก่อนการประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ ถึงแม้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.3 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 49 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยการลดลงของดัชนี PMI นั้นได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ทำให้นักลงทุนยังมีความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของยูโรโซน ในขณะที่รัฐบาลผสมของอิตาลีได้ให้ความเห็นชอบในเรื่องตัวเลขงบประมาณและร่างเนื้อหาที่เตรียมเสนอต่อสหภาพยุโรป (EU) แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษอันเนื่องมาจากแผนการจัดทำงบประมาณของประเทศที่ตั้งเป้าจะเพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณในปีหน้า อย่างไรก็ดีอิตาลียังไม่บรรลุข้อตกลงในขั้นตอนสุดท้ายกับสหภาพยุโรป และรัฐบาลอิตาลียังมีท่าทีต่อต้านในระหว่างการประชุมที่ยาวนานเพื่อหาข้อสรุปและการประนีประนอม

สำหรับประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ผู้นำของสหภาพยุโรป (EU) ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะไม่มีการเจรจาต่อรองครั้งใหม่กับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขณะที่นางเมย์ได้ประกาศเลื่อนการลงมติในรัฐสภาต่อร่างข้อตกลง Brexit ออกไปโดยไม่มีข้อกำหนด ในขณะที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนีประจำเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 0.1 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1297-1.1485 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/12) ที่ระดับ 1.1468/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (17/12) ที่ระดับ 113.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 113.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรับ โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าหลังจากที่ นักลงทุนเข้าถือเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้นก่อนการประชุมเฟด ประกอบกับความไม่แน่นอนของการเมืองในอังกฤษ ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีงบประมาณ 2562 ลงสู่ระดับร้อยละ 1.3 จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมว่าจะขยายตัว ร้อยละ 1.5 อีกทั้งได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2562 ลงสู่ระดับร้อยละ 1.1 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 โดยระบุว่าการใช้จ่ายด้านทุนขยายตัวน้อยกว่าคาด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง คณะกรรมการบริหารด้านนโยบายของ BOJ ได้ลงมติ 7 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นไว้ที่ระดับติดลบ 0.1% รวมทั้งคงผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไว้ที่ระดับใกล้ 0% ภายหลังการประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน

นอกจากนี้แบงก์ชาติญี่ปุ่นยังได้ให้คำมั่นว่า จะเพิ่มสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไว้ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน หรือ 7.11 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และจะไม่เปลี่ยนแปลงการซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ โดยนายคุโรดะยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แม้ว่าความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และความผันผวนการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ โดยนายคุโรดะยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แม้ว่าความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และความผันผวนในตลาดการเงินจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.80-113.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 111.08/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ