“วิรไท” ชี้แบงก์ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง เพราะสภาพคล่องในระบบยังสูง

วิรไท สันติประภพ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% แต่ กนง.คาดการณ์ว่าสภาพคล่องในระบบยังสูง ดังนั้น อัตราเงินกู้ธนาคารไม่ควรขยับ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้กับรายย่อย ทั้งเอ็มแอลอาร์ เอ็มอาร์อาร์ เอ็มโออาร์ แต่อาจจะกระทบสินเชื่อรายใหญ่ก่อน เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารมีการแข่งขันกันให้อัตราดอกเบี้ยในรูปแบบเอ็มแอลอาร์ลบ ซึ่งต่อไปจะเห็นจำนวนลบลดลง เพราะต้องแข่งกับตราสารหนี้ ซึ่งดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะสั้นขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทั้งนี้ คนที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ได้รับประโยชน์ทันทีหากดอกเบี้ยปรับขึ้น ดังนั้น ระยะต่อไปคนที่ฝากเงินอาจจะย้ายเงินฝากไปลงทุนตราสารหนี้มากขึ้นได้ ซึ่งจะเห็นธนาคารมีการพิจารณาปรับดอกเบี้ยระยะยาวขึ้นได้ในระยะต่อไป

ส่วนความกังวลหนี้ครัวเรือนหากธนาคารมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในอนาคตนั้น สินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ เช่น สินเชื่อบ้าน คงที่ในช่วง 3 ปีแรก สินเชื่อบัตรเครดิตมีอัตราเพดานดอกเบี้ย 18% ดอกเบี้ยขึ้นจะไม่เป็นการเพิ่มภาระการผ่อนหนี้ของครัวเรือน

“วัฏจักรดอกเบี้ยในที่ผ่านมา กนง.มีการปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่สภาพคล่องตึงตัว แบงก์จึงปรับขึ้นดอกเบี้ยตามทันที แต่ขณะนี้สถานการณ์ต่างกัน ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องสูง และ กนง.ไม่ได้ปรับดอกเบี้ยมา 7 ปีแล้ว การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.จะไม่ส่งผลทันทีทันใด จะเห็นตลาดการเงินค่อยๆ ปรับตาม ส่วนที่หลายคนมองว่าเงินทุนยังไม่ไหลออกมาก ทำไมต้องปรับรีบปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่ กนง มองว่าถ้าปรับขึ้นตอนที่เงินไหลออกแล้วจะเกิดช็อกได้ ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไปนั้น กนง.จะมีการพิจารณาปัจจัยต่างๆ และข้อมูลในการประชุมแต่ละครั้ง” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทอธิบายถึงเหตุผลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า เหตุผลหลักการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้คือเรื่องการดูแลเสถียรภาพการเงินเป็นหลัก เรื่องการเพิ่มความสามารถในการทำนโยบายการเงิน (โพลิซีสเปซ) รองรับความเสี่ยงอนาคตเป็นปัจจัยรอง ซึ่งการสื่อความของ กนง.ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะสะสมกระสุนเท่าไร แต่หลักคิดคือโอกาสที่เหมาะสมในการสะสม โดยพิจารณาการขยายตัวเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน

อย่างไรก็ดี โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การทำนโยบายการเงินก็เช่นกัน เป็นหลักทั่วไปทุกนโยบายมีต้นทุน และมีข้อดีข้อเสีย จึงต้องชั่งน้ำหนัก และประเมินผลในระยะสั้นและระยะยาว แต่ธนาคารกลางต้องเสถียรภาพเศรษฐกิจจะต้องมองระยะยาว ไม่ได้มองระยะสั้น ถ้ามองย้อนกลับไปอัตราดอกเบี้ยนโยบายเคยต่ำสุด ปี 2552 ที่ 1.25% เศรษฐกิจไทยคิดลบ 0.9% หลังจากนั้นมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น ผ่านวิกฤตการเมืองในประเทศ ผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หลังจากนั้นเกิดวิกฤตการเงินเศรษฐกิจโลก ขณะที่ในประเทศเกิดรัฐประหาร มีการจัดตั้งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องเร่งจัดทำงบประมาณ นโยบายการคลังชะงัก ดังนั้น นโยบายการเงินต้องเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งขณะนั้นจีดีพีขยายตัวเพียง 0.8% จึงต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในจังหวะที่นโยบายดำเนินการไม่ได้

 


ที่มา : มติชนออนไลน์