TMB ชี้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หนุนแบงก์พาณิชย์ทำ Reverse Repo ห่วงเงินฝากยังดอกเบี้ยต่ำ

แฟ้มภาพ

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไปกระตุ้นให้ระบบธนาคารพาณิชย์นำเงินไปฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ Bilateral Reverse Repo มากขึ้น เนื่องจากธนาคารจะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 1.75% จาก 1.50% หรือธนาคารจะได้จำนวนเงินราว 16,000 ล้านบาทต่อปี และไม่มีค่าความเสี่ยงจากการฝากเงินกับ ธปท. อีกด้วย ทั้งนี้ ถือเป็นการที่ต้นทุนของประเทศที่ประชาชนนำมาฝากเงินอาจเสียโอกาสได้ดอกเบี้ยที่ดี และอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ภายใต้การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำได้

“ในทุกวันธนาคารพาณิชย์จะนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินที่ตอนนี้มีราว 1.3 ล้านล้านบาท หรือในระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ไปฝากไว้กับ ธปท. โดย ธปท. จะจ่ายดอกเบี้ยรายวันให้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% โดยธนาคารจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการปล่อยกู้ให้ประชาชนที่ต้องตั้งสำรองหนี้เสีย หรือมีต้นทุนเงินฝากที่ให้ประชาชนอีก ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ธนาคารนำเงินไปฝาก ธปท. มากขึ้นได้” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เพื่อเป็นการเก็บกระสุนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งหลักๆมาจากดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำเกินไป ทำให้ประชาชนไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

โดยนายนริศเห็นด้วยที่ธนาคารพาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-ฝาก แต่ต่อไปต้องพิจารณาว่าการปรับนโยบายการเงินจะแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเงินได้หรือไม่ เนื่องจากคิดว่าถ้าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ดอกเบี้ยเงินฝากของประชาชนก็ควรจะปรับขึ้นบ้าง ซึ่งปัจจุบันจำนวนเงินฝากรายย่อยอยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท โดยเงินฝากรายย่อยที่อยู่ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (Current Account) และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (Savings Account) มีทั้งหมด 4 ล้านล้านบาท ในขณะที่จำนวนเงินกู้ในระบบมีอยู่ราว 14 ล้านล้านบาท

“การมองเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่มองแค่ขาเงินกู้เท่านั้น ให้มองขาเงินฝากที่กระทบประชาชนหมู่มากด้วย เพราะถ้าดูด้านจำนวนคนในขาเงินกู้จะกระทบประชาชนน้อยกว่าขาเงินฝาก ดังนั้นต้องพิจารณาทั้งสองขา แล้วแต่จะให้น้ำหนักทางไหนมากกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะขึ้นพร้อมกันทั้งสองขา” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ มองว่าหากดอกเบี้ยธนาคารมีการปรับขึ้น ภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะดอกเบี้ยต่างๆ เช่น MOR หรือ MOR ก็จะปรับขึ้นตามดอกเบี้ยเลย ดังนั้นทำให้มีผลกระทบต่อการกู้เงินของเอสเอ็มอี จึงควรมีมาตรการมาดูแลเอสเอ็มอีด้วย อย่างไรก็ตามถ้าธนาคารมีความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยเพราะจะไปกระทบการทำธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ก็ต้องพิจารณาด้านดอกเบี้ยเงินฝากที่ประชาชนใช้ออมเงินด้วย ซึ่งเป็นเงินออมของประเทศชาติ

“จะเห็นการขยับของดอกเบี้ยธนาคารเมื่อไหร่ก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ว่าจะปรับตัวยังไง ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อย สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ อาจไม่ได้รับผลกระทบมากในภาระผ่อนต่อเดือน ส่วนสินเชื่อบุคคลและเครดิตการ์ดก็มีเพดานอยู่แล้วจึงไม่กระทบ” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์จะทรงตัวอยู่ที่ 3% ดังนั้นถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารก็ไม่ได้มีผลกระทบ และธนาคารก็จัดการดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!