ห่วงภาษีที่ดินดันยอดอุทธรณ์พุ่ง ธนารักษ์หวัง กม.ผ่าน สนช.ก่อนเลือกตั้ง

ธนารักษ์หวั่นใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดันยอดอุทธรณ์ปัญหาราคาประเมิน “พุ่ง” ลุ้น สนช.ผ่านร่าง กม.ประเมินมูลค่าทรัพย์สินฯ โค้งท้ายก่อนเลือกตั้ง ครม.เห็นชอบประกาศใช้ราคาปานกลางที่ดิน ปี 2521-2524 เพื่อประเมินภาษีบำรุงท้องที่ต่ออีก 1 ปี ระหว่างรอภาษีที่ดินบังคับใช้

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มใช้ในปี 2563 นั้น เท่าที่พิจารณาแล้ว อาจจะมีผลทำให้ประชาชนมีการอุทธรณ์ราคาประเมินที่ดินเข้ามากันมากขึ้น จากที่ผ่านมา การประเมินราคาที่ดินภายใต้กฎหมายเก่า จะถูกนำมาใช้จริง ๆ ไม่ถึง 10% เนื่องจากประชาชนจะใช้ราคาประเมินก็เฉพาะช่วงที่มีการซื้อขาย หรือโอนเปลี่ยนมือเท่านั้น

“เดิมใช้แค่ 10% ก็ไม่ค่อยมีผลอะไรเท่าไหร่ แต่ต่อไปทุกแปลงจะถูกนำมาใช้เป็นฐานภาษีหมด ก็จะมีคนมองว่า อันนี้ราคาสูงไป อันนี้ราคาต่ำไป ผมว่าก็คงมีการอุทธรณ์ราคาประเมินกันเพิ่มขึ้นพอสมควร ว่าจะยอมรับได้หรือไม่ยอมรับ” นายอำนวยกล่าว

ทั้งนี้ หากจะแก้ปัญหาเรื่องการอุทธรณ์ที่จะเพิ่มขึ้นได้ คงต้องลุ้นให้ร่างพระราชบัญญัติการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐที่กรมธนารักษ์เสนอผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต้นปีหน้า ซึ่งล่าสุดร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปเป็น กระบวนการใน สนช. แต่หากไม่ผ่าน ก็ต้องกลับไปใช้แนวปฏิบัติแบบเดิม

“การประเมินราคาที่ดินตามกฎหมายเดิม จะมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานส่วนกลาง ซึ่งก่อนหน้านั้นแต่ละจังหวัดจะประเมินราคาผ่านอนุกรรมการ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จากนั้นก็ส่งมาให้คณะกรรมการชุดใหญ่ส่วนกลางเห็นชอบราคา แล้วก็ส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศใช้ ส่วนกฎหมายใหม่เราแก้ไขให้คณะกรรมการชุดใหญ่ส่วนกลาง มีหน้าที่วางนโยบาย ส่วนอนุกรรมการระดับจังหวัด จะสามารถให้ความเห็นชอบราคาประเมินแต่ละพื้นที่ได้เองเลย ซึ่งรวมถึงการอุทธรณ์ด้วย ก็สามารถจบได้ที่ระดับจังหวัด” นายอำนวยกล่าว

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่การประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ 33 ล้านแปลง ขณะนี้กรมได้มีการปรับแผนจากการประกาศราคาประเมินใหม่ทุก 4 ปี เหลือเป็นทุก 2 ปี ซึ่งรอบใหม่จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 พร้อมกับพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้พอดี

“การประเมินราคาที่ดิน ปี 2561 เราทำไปแล้วราว 20 ล้านแปลง ส่วนปี 2562 ต้องประเมินอีก 13.4 ล้านแปลง หลังจากนั้นก็จะไปประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นปีที่ใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเลย” อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2521-2524 มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี 2562 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ยังต้องใช้ราคาปานกลางที่ดินดังกล่าวต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เมื่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ในปี 2563 ก็จะไม่ต้องประกาศใช้ราคาปานกลางที่ดินนี้อีก

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!