กยศ. จับมือ ธพว. หนุนผู้ประกอบการกู้ยืม เข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้ กองทุนได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank ในการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านแหล่งเงินทุน เพื่อการลงทุนพัฒนา ขยาย หรือปรับปรุงกิจการของตนเอง โดยปัจจุบันกองทุนมีผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 5.5 ล้านราย มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้กว่า 3.7 ล้านราย กองทุนเล็งเห็นว่ามีผู้กู้ยืมจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือพนักงานประจำที่ตัดสินใจออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หากผู้กู้ยืมกลุ่มนี้มีวินัยทางการเงินหรือมีประวัติการชำระเงินคืนกองทุนอย่างต่อเนื่อง ควรจะได้รับโอกาสในการสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ

“กองทุนคาดหวังว่าความร่วมมือกับ ธพว. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของรัฐที่ให้บริการทางการเงินด้านสินเชื่อและการลงทุน รวมถึงช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้กู้ยืม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะชำระเงินคืนกองทุน เพื่อนำมาหมุนเวียนสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลในการสร้างโอกาส สร้างงานสร้างอาชีพ และการมีรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป” นายชัยณรงค์กล่าว

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank กล่าวว่า ผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับธนาคาร พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs สูงถึง 5.2 ล้านราย เป็นรายย่อยหรือ “จุลเอสเอ็มอี” ที่ยังไม่จดทะเบียนกว่า 3 ล้านราย ซึ่งในจำนวนผู้ประกอบการเหล่านั้นส่วนหนึ่งคือผู้กู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีประวัติการชำระเงินคืนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธพว. นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ร่วมกับ กยศ. สนับสนุน SMEs ที่เป็นผู้กู้ยืม กยศ. โดยมองเห็นโอกาสเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ที่เรียนจบแล้วและยังศึกษาอยู่ มีวินัยทางการเงินที่ดี ผลักดันให้นักธุรกิจรุ่นใหม่เป็น “ผู้ประกอบการดาวรุ่ง” ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความรู้เพื่อนำไปลงทุนพัฒนา ขยาย ปรับปรุงกิจการของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเช่น สินเชื่อ“เถ้าแก่ 4.0” สำหรับนิติบุคคล ส่งเสริม SMEs ที่ต้องการลงทุนใหม่ ขยายกิจการ ปรับปรุง ด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี สินเชื่อ “เศรษฐกิจติดดาว” หรือ “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan)” อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.25% ต่อเดือน ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวชุมชน มีนวัตกรรม และอาชีพอิสระ และสินเชื่อ “Transformation Loan เสริมแกร่ง” อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% ต่อปี ตลอดอายุโครงการ 7 ปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย เป็นต้น

“ธพว.จะร่วมเป็นองค์กรคุณธรรม โดยสนับสนุนให้บุคลากรของธนาคารที่เป็นผู้กู้ยืม กยศ. มีวินัยทางการเงินที่ดี โดยหักบัญชีเงินเดือนเพื่อชำระคืนเงินกองทุนฯ สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีเงินทุนต่อยอดธุรกิจและการชำระเงินคืนกองทุนสร้างโอกาสให้รุ่นน้อง สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการสร้างโอกาส สร้างอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน คาดว่าจะมีผู้กู้ยืมกลุ่มผู้ประกอบการขอสินเชื่อดังกล่าว ราว 200,000 ราย” นายมงคลกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!