ขุนคลังยอมเติมทุน2แบงก์รัฐ ใส่เงิน2.3หมื่นล้าน หนุนปล่อยกู้เอสเอ็มอี

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“อภิศักดิ์” พร้อมอนุมัติเพิ่มทุน “ธสน.-ธพว.” 2.3 หมื่นล้านบาท รองรับพันธกิจอุ้มเอสเอ็มอี ยันแหล่งเงินไม่น่ากังวลใช้วิธีทยอยใส่เงินเพิ่มทุนได้ วงในระบุใช้เงินกองทุน SFIs ปัจจุบันมี 1.1 หมื่นล้านบาท ชี้มีเงินเติมเข้ากองทุนปีละราว 1 หมื่นล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM Bank เสนอขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาใส่เงินเพิ่มทุนจำนวน 15,000 ล้านบาทนั้น ตนพร้อมจะพิจารณาอนุมัติให้ หากดูแล้วทางธนาคารสามารถดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้ตามแนวทางที่วางไว้ ขณะเดียวกันก็มีทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank อีกรายที่แสดงความต้องการว่าจะขอเพิ่มทุน

“เรื่องเพิ่มทุนก็จะดูให้ ไม่มีปัญหา ถ้าเขาทำได้ ส่วนแหล่งเงินก็ต้องดู ตอนนี้เงินของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (กองทุน SFIs) ก็ลดลงไป หลังจากเพิ่มทุนให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ไปก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะการเพิ่มทุนไม่จำเป็นต้องใส่เงินทั้งหมดในทันที” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ สคร.อยู่ระหว่างพิจารณาแผนธุรกิจของทาง ธสน. ซึ่งยังเป็นเพียงรายเดียวที่ยื่นเรื่องขอเพิ่มทุนเข้ามาแล้ว จำนวน 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในเรื่องเงินเพิ่มทุนนั้นยืนยันว่า ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวล เพราะการพิจารณาอนุมัติจะดูที่เหตุผลความจำเป็นมากกว่า

“ทาง ธสน.ส่งแผนธุรกิจมาให้ดูแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของเจ้าหน้าที่” นายประภาศกล่าว

แหล่งข่าวจาก ธสน.กล่าวว่า ธนาคารขอเพิ่มทุนอีก 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ทุนเพิ่มเป็น 35,000 ล้านบาท สำหรับรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่สนใจไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) โดยจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ในวงเงินที่มากขึ้นสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การใส่เงินเพิ่มทุนจะทยอยใน 2 ปี คือ ในปี 2562 จำนวน 8,000 ล้านบาท และปี 2563 อีก 7,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะใช้เงินจากกองทุน SFIs ที่ปัจจุบันมีเงินอยู่ 11,000 ล้านบาท และจะมีเงินนำส่งเข้ามาตกปีละ 10,000 ล้านบาท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารมีแผนขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง ในวงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินจากกองทุน SFIs ที่เป็นกลไกของกระทรวงการคลัง ซึ่งเหตุผลในการขอเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อที่มุ่งเน้นรายย่อยมากขึ้น และเพื่อรองรับการด้อยค่าของสินทรัพย์ตามกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจัยเหล่านี้ทำให้กำไรของธนาคารมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้องนำไปตั้งสำรองมากขึ้น รวมถึงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ต้องการเพิ่มให้กลับไปอยู่ระดับ 13% จากที่ลดลงเหลือราว 11% ในปัจจุบัน

“BIS ratio ลดลง จากเมื่อก่อนอยู่ที่ระดับกว่า 13% ตอนนี้เหลือ 11% เพราะเราปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจ เฉพาะช่วงที่ผมเข้ามาทำงาน ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 140,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 เราก็ต้องพยายามรักษาระดับ BIS ratio ให้มากกว่า 10% ไว้ และเมื่อได้รับการเพิ่มทุนก็จะเป็น 13% เนื่องจากเอสเอ็มอียังต้องการการช่วยเหลือ” นายมงคลกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!