“บริโภค” พระเอกดัน ศก.ไทย สศค. หวังแรงส่งถึงปีหน้า

ตอนต้นปี 2561 เศรษฐกิจไทยทำท่าจะไปโลด ถึงกับมีบางคนคาดว่าจะเติบโตได้ใกล้ ๆ 5% ต่อปี โดยไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงถึง 4.9% ไตรมาส 2 ก็ยังไม่ขี้เหร่ขยายตัวได้ 4.6% ทว่ามาสะดุดเอาตอนไตรมาส 3 ที่ขยายตัวได้แค่ 3.3%

โดยหากยังยึดตามประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 ที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำไว้เมื่อเดือน ต.ค.ว่าเศรษฐกิจไทยปี”61จะโตได้ 4.5% คงต้องผลักดันให้ไตรมาสสุดท้ายโตได้ใกล้ ๆ 5% เพราะที่ผ่านมา 3 ไตรมาสเติบโตเฉลี่ยที่ 4.3% แนวโน้มจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมาดูว่ามีปัจจัยบวก/ลบอย่างไรบ้าง

“พิสิทธิ์ พัวพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษก สศค.กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาส 3 ที่ขยายตัวแค่ 3.3% โดยดูจากเครื่องชี้ด้านต่าง ๆ ทั้งการส่งออกที่น่าจะดีขึ้น ซึ่งเดือน ต.ค.มูลค่าส่งออกขยายตัวได้กว่า 8% ส่วนเดือน พ.ย. แม้จะติดลบ 0.95% แต่ยังถือว่าดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวก็กลับมาขยายตัวได้แล้ว จากที่ในไตรมาส 3 ติดลบค่อนข้างมาก

“หลังจากมีมาตรการด้านการท่องเที่ยว เราก็เห็นสัญญาณของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอินเดีย มาเลเซียที่ขยายตัวได้ดี” นายพิสิทธิ์กล่าว

โดยในเดือน พ.ย. ปี 2561 เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่ขยายตัว 9.6% สูงสุดในรอบ 4 เดือน และการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 26.9% ส่วนด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศจากการส่งออกสินค้า มีสัญญาณทรงตัวเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นบวก

ขณะที่ “พงศ์นคร โภชากรณ์” ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) เดือน ธ.ค. 2561 มีทิศทางดีขึ้น และเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจภูมิภาคและความเชื่อมั่นเศรษฐกิจมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ “การบริโภค” โดยหากดูตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศ จะเห็นได้ว่าการบริโภคไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จากไตรมาสแรกโต 3.7% ไตรมาส 2 โต 4.5% และไตรมาส 3 โตได้ 5%

“เครื่องชี้ภาษีมูลค่าเพิ่มในไตรมาสแรกโต 4.1% ไตรมาส 2 โต 6% และไตรมาส 3 โต 6.6% ซึ่งเป็นตัวสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค แล้วถ้ามาดูไตรมาส 4 ที่ช่วง ต.ค.-พ.ย. ภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวได้ 8% นั่นแปลว่าในไตรมาส 4 การบริโภคน่าจะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และหากภาษีมูลค่าเพิ่มในไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 8.4% ก็จะทำให้การบริโภคไตรมาส 4 ขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 3” นายพงศ์นครกล่าว

สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2561 นั้น “พิสิทธิ์” บอกว่า คลังจะแถลงปรับประมาณการตอนสิ้นเดือน ม.ค. 2562 โดยขณะนี้มีบางสมมุติฐานที่เปลี่ยนไป จึงต้องทบทวนใหม่ ทั้งจากเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมาชะลอตัวค่อนข้างมาก แต่ก็มีมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลทำออกมา ที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้ต่างไปจากสมมุติฐานเดิมของ สศค. ที่คาดว่าจะทั้งปีนี้ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.5% นั้น สศค.มองว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบในระยะสั้นเพราะจะสิ้นปีแล้ว

“ตอนนี้จะจบปีแล้ว ดังนั้น ปีนี้คงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเรามองว่าคงไม่กระทบในระยะสั้น เนื่องจากนโยบายการเงินจะต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านนโยบาย ซึ่งขณะนี้ยังมีสภาพคล่องสูง และนโยบายการคลังก็ยังสนับสนุนเศรษฐกิจโดยมีโมเมนตัมส่งไปถึงปี”62 โดยเฉพาะการลงทุนที่จะมีโมเมนตัมไปถึงปีหน้าจากที่โครงการใน EEC เริ่มมีการประมูลแล้วหลายโครงการ” นายพิสิทธิ์กล่าว

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี”62 “พิสิทธิ์” บอกว่า หากพิจารณาจากการประเมินของหลาย ๆ สำนัก ซึ่งจะคำนึงถึงเศรษฐกิจโลกที่แนวโน้มชะลอตัว ก็มองภาพว่าเศรษฐกิจไทยปี”62อาจจะแผ่วลงจากปีนี้ แต่ก็ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

จับสัญญาณดูแล้ว ปี”62 เศรษฐกิจไทยคงไม่ได้ “หมู” อย่างชื่อแน่นอน