กสิกรชี้ปีนี้แบงก์เหนื่อย NPL พีก แบกภาระตั้ง “สำรองหนี้เสีย” พุ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้เทรนด์ปี’62 NPL พุ่งเฉียด 3% ทำสถิติครั้งใหม่ เหตุกังวล “สินเชื่อบ้าน-รถ” ชี้แบงก์ดูแล NPL เชิงรุกต่อเนื่อง พร้อมแบกภาระตั้งสำรองหนี้สูงขึ้น ดึงค่าความเสี่ยงสูงเท่าปี”61 ฟากแบงก์ชาติเผยยอมรับ NPL ยังสูงต่อเนื่อง เป็นห่วง SMEs เมืองรองกระทบหนัก

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยรวม น่าจะแตะสูงสุดครั้งใหม่ในไตรมาส 3/62 ขึ้นมาอยู่ระดับเกือบ 3% ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีสัดส่วนสูงขึ้นและ NPL ที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วอาจกลับมาเป็น NPL อีก ท่ามกลางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว

“เศรษฐกิจไม่เอื้อต่อ NPL ให้ดีขึ้น เราคาดไตรมาส 3 NPL อาจแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ เพราะความกังวลของสินเชื่อหลายประเภทยังมีอยู่ เช่น สินเชื่อบ้านและรถ ซึ่งยังเห็น NPL ไหลเข้ามาอยู่เลย ถ้าดูตอนไตรมาส 3/60 NPL อยู่ที่ 2.97% ก็ว่าพีก (สูงสุด) แล้ว แต่ปี”62 จะพีกกว่าเพราะเกือบถึง 3% จากนั้นก็จะกลับลงมาในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล โดยสิ้นปี”62 คาดว่า NPL จะอยู่ที่ 2.98% หรือมูลค่า 4.48 แสนล้านบาท” นางสาวกาญจนากล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/61 NPL โดยรวมอยู่ที่ระดับ 2.94% และสิ้นปี”61 คาดอยู่ที่ 2.91% หรือมูลค่า 4.8 แสนล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นอกจากสินเชื่อบ้านแล้ว ยังมีสินเชื่อ SMEs ต้องจับตาเป็นพิเศษในปี”62 โดยประเมินว่า ปีนี้ NPL ของสินเชื่อ SMEs จะขยับขึ้นไปที่ 3.42% จากคาดการณ์สิ้นปี”61 อยู่ที่ 3.38% และสินเชื่อบ้าน คาดสิ้นปี”62 NPL อยู่ที่ 4.70% จากคาดการณ์สิ้นปี”61 ที่ 4.60%

“NPL ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในปี”62 โดยเฉพาะในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน และจังหวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจทยอยขยับขึ้น ดังนั้น คาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องดูแลปัญหา NPL ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในปี”62 ทั้งในกระบวนการติดตามดูแลลูกค้า การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการแก้ไขเมื่อลูกหนี้เผชิญปัญหาและไม่มีศักยภาพในการหารายได้มาชำระคืนหนี้” ศูนย์วิจัยกสิกรฯระบุ

พร้อมกันนี้ยังประเมินว่า จากแนวโน้มเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นปีนี้ อาจจะทำให้ธนาคารต้องมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับที่ไม่น้อยไปกว่าปี”61 มากนัก และจะส่งผลต่อ credit cost (สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อ) ที่สะท้อนค่าความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ อาจจะมีโอกาสทรงตัวเมื่อเทียบกับปี”61 ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังต้องเตรียมความพร้อมรองรับกฎเกณฑ์ของทางการที่จะทยอยใช้ ทั้งในเรื่องมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มาตรฐานเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel III และมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ด้วย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น และสินเชื่ออื่นเริ่มมี NPL ทรงตัวหรือปรับลดลง แต่สินเชื่อบ้านกลับมี NPL สูงขึ้น โดยเฉพาะในสัญญาที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน ภายใต้การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร โดยเมื่อดอกเบี้ยขึ้น ก็มีแนวโน้มจะเป็น NPL ได้อีก นอกจากนี้ยังมี SMEs ที่ NPL ยังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs เมืองรองจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะมีตลาดที่เล็ก และต้องเจอผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาแย่งตลาดอีก ทั้งยังมีเรื่องแรงงานที่ขาดทั้งต้นทุนและทักษะแรงงาน

“NPL ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสำคัญมากกว่า NPL ที่มาจากวัฏจักรเศรษฐกิจที่อาจแย่ลงช่วงสั้นแล้วคนไปโฟกัสหมด ที่สำคัญคือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่” นายวิรไทกล่าว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!