ไอพีโอตัวแรกของปีหมูไม่หมู “SAAM” หลุดจอง 5.5%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าวันนี้ (7 ม.ค.62) บมจ.เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM) ได้เปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ mai วันแรก ซึ่งพบว่าราคาหุ้นช่วงเปิดอยู่ที่ระดับ 1.70 บาท หรือปรับตัวลดลงราว 5.5% จากราคาจองซื้อไอพีโอที่ 1.80 บาท

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การระดมทุนไอพีโอขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านข้อมูลของบริษัท ความต้องการใช้เงิน และสภาวะตลาด ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาประกอบกัน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสภาวะตลาดตั้งแต่ปีที่แล้ว (2561) โดยเฉพาะ 3 เดือนสุดท้าย มีปัจจัยกดดันทั้งเรื่องของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นผลให้สภาวะตลาดโลกค่อนข้างผันผวน ซึ่งมีผลแน่นอนต่อราคาหุ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมายังคงเห็นการเติบโตขึ้นราว 10% ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปี 2560 (YoY)

“เราไม่เคยตั้งเป้าจำนวนไอพีโอ อย่างไรก็ตาม จากที่ประเมินว่าสภาวะตลาดปีนี้น่าจะดีขึ้น เนื่องจากมีหุ้นหลายตัวที่น่าจะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเท่าที่เราเห็น รวมถึงยังเห็นหุ้นขนาดใหญ่คล้ายคลึงกับปีที่แล้วที่เตรียมเข้าระดมทุน ส่วนภาวะตลาดจะส่งผลต่อการเลื่อนออกหุ้นไอพีโอหรือไม่นั้น อย่างที่เรียนไปข้างต้นว่าต้องพิจารณาถึง 3 ปัจจัยหลักด้วย แม้สภาวะตลาดไม่ดีแต่มีความต้องการใช้เงิน รวมถึงมีข้อมูลที่พร้อมแล้วก็ขึ้นอยู่กับบริษัทจดทะเบียนว่าจะระดมทุนหรือไม่ ดังนั้น ไม่ได้แปลว่าตลาดไม่ดีแล้วทุกบริษัทจะไม่ระดมทุน สภาวะตลาดเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น” นายแมนพงศ์กล่าว

นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM) เปิดเผยว่าการระดมทุนจาก mai ครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่กลุ่มบริษัท โดยจะนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาในต่างประเทศ ใช้เป็นเงินทุนสำหรับเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ใช้คืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

“ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 41.1 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างรอส่งมอบอีก 2 โครงการที่เป็นธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 40 เมกะวัตต์ โดยตามแผนแล้วคาดว่าจะส่งมอบช่วงปลายปี 2562 นี้ ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าในตลาดนั้น ต้องเรียนว่าไม่ได้มีลักษณะเป็นขู่นแข่ง แต่เป็น ‘ลูกค้า’ ของเรา เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในตลาดในปัจจุบันเป็น ‘Operator’ ส่วน SAAM เป็น ‘Developer’” นายพดด้วงกล่าว

ทั้งนี้ บมจ.เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM) ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 7 ม.ค. นี้ เป็นหลักทรัพย์แรกของปี ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IP0 540 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SAAM”

กลุ่มบริษัท SAAM ดำเนินธุรกิจ (1) เป็นผู้ลงทุนจัดหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการใช้ที่ดิน เพื่อให้กลุ่มบริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด (BSP) ใช้เป็นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิตรวม 41.1 เมกะวัตต์ รวมถึงให้บริการดูแลความปลอดภัยและรักษาความสะอาดทรัพย์สินและอุปกรณ์บริเวณโครงการ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนภายใต้สัญญาระยะยาว 20 หรือ 25 ปี (แล้วแต่กรณี) (2) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.0 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นระบบการรับซื้อแบบ FiT ในอัตรา 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ระยะเวลาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี และ (3) พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่อยู่ระหว่างพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายจำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตโครงการละ 19.9 เมกะวัตต์ โดยพัฒนาจนได้รับใบอนุมัติให้เชื่อมต่อระบบไฟฟ้าแรงสูงและใบอนุมัติสนับสนุนค่าไฟฟ้าแบบ FiT ในอัตรารับซื้อ 24.0 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาในประเทศญี่ปุ่นผ่านบริษัทย่อยอีกจำนวน 6 บริษัท

SAAM มีทุนชำระแล้ว 150 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 220 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 80 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อผู้มีอุปการคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จำนวน 77.8 ล้านหุ้น ต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวน 2 ล้านหุ้น พนักงานและผู้บริหาร (ที่มิใช่กรรมการ) จำนวน 0.2 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 24-27 ธันวาคม 2561 ในราคาหุ้นละ 1.80 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 144 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 540 ล้านบาท มีบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้นำการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

SAAM มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ นายพดด้วง คงคามี และคู่สมรส ถือหุ้น 66.67% นายโสฬส คงคามี ถือหุ้น 6.67% และบริษัทหลักทรัยพ์ ทรีนีตี้ จำกัด ถือหุ้น 2.28% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 1.80 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 33.46 เท่า โดยคำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 2560-30 กันยายน 2561) ซึ่งเท่ากับ 16.13 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.0538 บาท ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย และหลังหักสำรองทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด

รายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.saam.co.th และ www.set.or.th